นักศึกษาปริญญาโท มธ. คว้ารางวัล SIFF 2022 สร้างแอปฯ ประเมินการทำงาน 'หัวใจ-หลอดเลือด' สุดแม่นยำ

นักศึกษาปริญญาโท สหเวชศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ประดิษฐ์อุปกรณ์ประเมินความสามารถในการทำกิจกรรมและประเมินการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด คว้ารางวัลจาก SIFF 2022

เมื่อเร็วๆ นี้ ผลงาน 'Application and walking test device for cardiovascular endurance evaluation' แอปพลิเคชันและอุปกรณ์ทดสอบการเดินเพื่อประเมินความทนทานของหัวใจและหลอดเลือด โดย นัฐวุฒ เมฆฤทธิไกร นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัล Gold Prize จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในงาน Seoul International Invention Fair 2022 (SIFF 2022) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

นัฐวุฒ เมฆฤทธิไกร นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชากายภาพบำบัด คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงแนวคิดของนวัตกรรมนี้ว่า จากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ส่งผลให้มีปัญหาด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น อย่างความสามารถในการทำกิจกรรมทางกาย ความทนทานของปอด หัวใจ และหลอดเลือด โดยจะมีการประเมินด้วยการเดิน 6 นาที หรือ 6MWT รวมถึงติดตามการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคทางระบบประสาท ผู้สูงอายุ และบุคคลทั่วไป เพื่อประเมินสมรรถภาพร่างกายเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม มักเกิดปัญหาจากการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทดสอบ และการประเมินยังมีความคลาดเคลื่อน ดังนั้น เราจึงออกแบบและสร้างอุปกรณ์วัดระยะทางการเดิน โดยพัฒนาอุปกรณ์เซนเซอร์ที่ทำงานร่วมกับแอปพลิเคชัน มาใช้ประเมินความสามารถในการทำกิจกรรมและประเมินความทนทานของหัวใจและหลอดเลือด

นัฐวุฒ กล่าวต่อไปว่า Application and walking test device for cardiovascular endurance evaluation เป็นอุปกรณ์เซนเซอร์ที่สามารถวัดความทนทานของหัวใจและหลอดเลือดได้ และมีค่าความคลาดเคลื่อนน้อยและความแม่นยำสูงเมื่อเทียบกับวิธีการวัดแบบมาตรฐานด้วยการเดิน 6 นาที และยังพกพาสะดวก ใช้งานง่าย เชื่อมต่อด้วยวิธีไร้สาย ทำงานคู่กับโทรศัพท์มือถือ หรือ Tablet ด้วยระบบปฏิบัติการ Android โดยทำการเก็บข้อมูลในรูปแบบออนไลน์ และสามารถดูข้อมูลสถิติย้อนหลังเพื่อนำไปวิเคราะห์ได้ทันที

โดยอุปกรณ์ประกอบด้วย 1. สายรัดข้อมือหรือข้อเท้า โดยมีเซนเซอร์วัดการเคลื่อนไหว ทำหน้าที่เปรียบเทียบกับแรงดึงดูดของโลกและให้ข้อมูลการวัดเป็นค่ามุมหรือค่ามุมเอียงเมื่อเทียบกับระนาบของโลก 2. วงจรไมโครคอนโทรลเลอร์ มีหน่วยประมวลผลอยู่ภายในจากเซนเซอร์วัดการเคลื่อนไหว 3. วงจรโมดูลสื่อสารบลูทูธระบบไร้สาย ใช้ในการส่งข้อมูลจากไมโครคอนโทรลเลอร์ ไปยังแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์ที่ใช้ระบบแอนดรอยด์ ซึ่งสามารถกรอกข้อมูลเบื้องต้น ตั้งค่าระยะทางเดิน แจ้งระยะเวลาที่เหลือ แสดงผลทางหน้าจอระยะทางการเดินได้

ในส่วนของแอปพลิเคชันทดสอบการเดิน จะต้องใช้ระบบ Android 4.3 ขึ้นไป โดยสามารถบันทึกข้อมูลของอาสาสมัครได้ อาทิ ชื่อ เพศ อายุ น้ำหนัก ส่วนสูง สัญญาณชีพ และระดับความรู้สึกเหนื่อย ระยะทางที่เดินได้ภายใน 6 นาที หลังเดินครบ 6 นาที ผู้ถูกประเมินจะทราบความสามารถในการทำกิจกรรมที่เป็นทางการ ความทนทานของหัวใจและหลอดเลือดว่าอยู่ในระดับใด

ทั้งนี้ Application and walking test device for cardiovascular endurance evaluation ได้รับทุนจากโครงการพัฒนาบัณฑิตวิจัยคุณภาพสูงด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) 2/2564 โดยได้นำเสนอในงาน 2022 The Joint symposium ระหว่างเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติ คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, Catholic University of Korea ประเทศเกาหลีใต้ และ National Defense Medical Center ไต้หวัน และ Oral presentation - proceedings งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 (Thailand Research Expo 2022)