'ขันทีจีน' ตัวแทนอารยธรรมพิเศษ ข้ามพ้นกำแพงแห่งเพศ สู่ วัฒนธรรมใหม่ที่กระจายไกลไปทั่วโลก

เวลาเราดูซีรี่ย์จีนย้อนยุค โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องในรั้ว ในวัง หนึ่งตัวละครที่ขาดไม่ได้เลยนั่นก็คือ ‘ขันที’ มนุษย์เพศชายที่ถูกจับมาตอน ‘ตัด’ เอาอวัยวะเพศออก เพื่อให้สามารถรับใช้ ทำงาน และดำเนินชีวิตอยู่ในฝ่ายในที่มีเพียงสตรีและบุรุษเดียวคือ ‘ฮ่องเต้’ เท่านั้น ที่เข้าออกได้

คำว่า ‘ขันที’ น่าจะเป็นคำที่ผูกโยงกับอัตลักษณ์แบบจีนจนเราคุ้นชิน โดยในภาษาจีนเรียก ‘ขันที’ ว่า ‘ไท้เจี๋ยน’ แต่ในเอาจริงๆ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในภูมิภาคอื่นก็พบเห็นการมีอยู่ของ ‘ขันที’ เช่นเดียวกัน กระจายออกไปเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมโลกเลยทีเดียว ทีนี้ในแต่ละภูมิภาคเขาเรียก ‘ขันที’ กันอย่างไรบ้าง ? มาลองติดตามอ่านกันก่อน

สำหรับสยาม ในสมัยอยุธยาเราเรียก ‘ขันที’ ว่า ‘นักเทษขันที’ ซึ่งมีมาอย่างยาวนานก่อนจะมายกเลิกในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ส่วนข้าง มอญ - พม่า เรียก ‘ขันที’ ว่า ‘ก็อมนอย’ ส่วนในเกาหลีก็มี ‘ขันที’ เช่นเดียวกัน โดยเรียกว่า ‘แนซี’ การตอนของเกาหลีนี่โหดมาก เพราะเขา ‘ตอน’ โดยให้สุนัขกัดอวัยวะเพศจนขาด (คุณพระ !!!) 

สำหรับเรื่องราวของ ‘ขันที’ ที่น่าจะเก่าแก่ที่สุด ว่ากันว่าเกิดขึ้นที่เมืองลากาสช์ แคว้นสุเมเรียน ในเมโสโปเตเมีย ราว 2,000 ปีก่อนคริสตกาล และถือเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในราชสำนักของเมโสโปเตเมียและอียิปต์โบราณ ภาษาละตินและอาหรับเรียกขันทีว่า ‘ยูนุก’ ซึ่งนี่คือต้นธารแห่ง ‘ขันที’ 

โดยวัฒนธรรมการใช้ ‘ยูนุก’ แตกแขนงออกเป็น 2 สายคือ สายแรก แพร่หลายไปตามเส้นทางสู่จีนในสมัยราชวงศ์สุย ซึ่งวันนี้เราจะมารู้จัก ‘ขันที’ ในวัฒนธรรมที่จีนกัน ส่วนสายที่ 2 แพร่หลายในเอเชียตะวันตกและเอเชียใต้ สู่เปอร์เซียโบราณและจักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือไบแซนไทน์

ส่วนต้นกำเนิดของขันทีในจีนก็ยังมีความคลุมเครือ ไม่สามารถหาหลักฐานที่บ่งชี้ต้นทางได้อย่างชัดเจน แต่หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดที่พบนั้นเกี่ยวข้องกับ ‘โจวกง’ พระอนุชาของ ‘พระเจ้าโจวอู่หวัง’ ผู้ปราบพระเจ้าโจ้วและสถาปนาราชวงศ์โจว ประมาณ 1,046 ปีก่อนคริสตกาล 

โจวกง มีชื่อจริงว่า ‘ต้าน แซ่จี’ เป็นโอรสองค์ที่ 4 ของพระเจ้าโจวเหวินหวัง เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพระเจ้าโจวอู่หวัง ปราบพระเจ้าโจ้ว ในยุคนั้น ‘โจวกง’ เป็นผู้วางระบบกฎหมายทั้งในบทข้อห้ามและบทลงโทษ หนึ่งในบทลงโทษที่กระทำต่ออาชญากรและเชลยศึกนั่นก็คือ ‘การตอน’ เพื่อให้เป็น ‘ขันที’ โดยขันทีจะแยกออกเป็น 2 ประเภทตามรูปแบบการตอนคือ...

ประเภทแรกเป็น ‘ขันทีที่ถูกตัดแค่ส่วนขององคชาติ’ แต่เหลือส่วนของอัณฑะเอาไว้ ซึ่งการตัดในลักษณะนี้จะส่งผลให้ ขันทีประเภทนี้ยังคงมีลักษณะภายนอกเหมือนกับผู้ชายทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นของหนวดเครา ขนแขนหรือขนขา รวมถึงเสียงของขันทีเหล่านี้ก็ยังคงมีความทุ้มและห้าวอยู่ เพราะว่า ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่สำคัญ ยังผลิตจากอัณฑะอยู่ (แค่ไม่มี ‘ลำ’) ทำให้ยังเป็นผู้ชายอยู่ พวกนี้โดยมากจะเป็นเชลยศึกที่ถูกจับมา ต้องโดนตอนเพื่อไม่ให้สืบพันธุ์ได้ มักจะได้รับหน้าที่ให้ทำงานได้แค่ในเขตพระราชฐานชั้นนอกเท่านั้น 

ประเภทที่สอง ‘ขันทีที่ถูกตัดทั้งองคชาติและถุงอัณฑะ’ ขันทีประเภทนี้จะสูญเสียความเป็นชายไปทันทีหลังจากที่ได้ทำการเฉือนเอาถุงอัณฑะออกไปแล้ว อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ‘อัณฑะ’ คืออวัยวะที่ผลิตฮอร์โมนโทสเตอโรน (Testosterone) ของผู้ชาย เมื่อตัดออกไปทั้งพวง ผลที่ได้คือ เสียงที่เล็กแหลมเหมือนผู้หญิง ลักษณะทางกายภาพภายนอกจะดูต่างไปจากเพศชายในช่วงวัยเดียวกัน ไม่มีลูกกระเดือกใหญ่โต ขนแขนขนขาและหนวดเคราไม่มี แสดงออกเหมือนกับสตรีเพศ เนื่องจากว่าเขาสูญเสียฮอร์โมนสำคัญในเพศชายไปแล้ว พวกนี้คือ ‘ขันที’ ที่เราคุ้นชิน สามารถทำงานเขตพระราชฐานชั้นใน ได้

ขันทีทั้ง 2 ประเภทหลังจากแผลการ ‘ตอน’ สมานดีแล้ว จะใช้ท่อที่ทำจากโลหะ ไม้ไผ่ หรือฟาง สอดเข้าไปเพื่อช่วยในการปัสสาวะ และใช้ระบาย ‘อสุจิ’ ออกมาเมื่อมันเต็มจนล้นตามการผลิตที่ทำได้ (เสียบลึกขนาดไหนกันนั่น ?) 

ส่วนใหญ่แล้ว การตอนเป็น ‘ขันที’ แบบสมัครใจ มักทำตั้งแต่เด็กก่อนวัยเจริญพันธุ์ เพราะการ ‘ตอน’ หลังจากวัยเจริญพันธุ์แล้วถือเป็นเรื่องเสี่ยงถึงแก่ชีวิตมากกว่า โดยอัตราการเสียชีวิตในหมู่ผู้ตอนหลังวัยเจริญพันธุ์แล้วอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งผู้ที่รับใช้องค์ ‘ฮ่องเต้’ มีผู้ที่ผ่านการตอนทั้ง 2 ช่วงอายุ แต่ตอนแล้วใช่ว่าความต้องการทางเพศจะถูก ‘ตอน’ ไปด้วย 

แน่นอนว่า ‘ขันที’ หลังวัยเจริญพันธุ์ ย่อมต้องเคยรับรู้เรื่องความต้องการทางเพศและด้วยการที่ ‘ขันที’ มีทรัพยากรและเวลาอย่างเหลือเฟือให้ทดลองกิจกรรมทางเพศที่เชื่อว่าอาจช่วยให้อวัยวะที่สูญเสียไปนั้นกลับคืนมา (ตัดเพราะอย่างมีอำนาจ พอมีอำนาจก็เลยอยากต่อคืน ประมาณนั้น) โดยเฉพาะเรื่องของ ‘พลังหยิน’ ที่เชื่อว่าต้องใช้ผู้หญิงมากระตุ้นส่วนที่ถูกตัดไปอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าความซาบซ่าน (จากกิจกรรมกระตุ้น) จะทำให้เกิดพลังหยาง สรุปมีผลลัพธ์ที่บันทึกในศตวรรษที่ 13 บรรยายว่า “ส่วนที่เป็นแผลที่สมานกันแล้วกลายเป็นเสียหายด้วยเพลิงราคะอย่างบ้าคลั่ง มีความรู้สึกว่าเส้นเลือดกำลังจะระเบิดออกมา แต่ไม่มีใครรู้ว่าเลยมันไม่สามารถฟื้นฟูได้” (ก็นะ มันจะไปงอกคืนได้ยังไง ???)  

ความเชื่ออีกเรื่อง ของวิธีการฟื้นฟูอวัยวะของ ขันทีจีน คือการใช้สมองมนุษย์แบบสด ๆ เป็นตัวช่วย (พิสดารไปอีก) โดย ‘ขันที’ ชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการสั่งตัดศีรษะเชลยศึกหรืออาชญากรทั่วไป ให้เปิดศีรษะและนำชิ้นส่วนสมองมาให้ ในขณะที่ชิ้นส่วนยังอุ่นอยู่ (เอามาทำอะไรไม่ต้องบอกนะ มันสยองเกินไป) นักวิชาการจีนได้ระบุว่า “สังคมที่อยู่ภายใต้ความเชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติในสมัยนั้น ทำให้เกิดตำรับหรือสูตรยาบำบัดต่าง ๆ ที่ใช้ชิ้นส่วนหรืออวัยวะภายในมนุษย์เป็นส่วนประกอบอย่างมากมาย” ท้ายที่สุดในยุคหนึ่ง ‘ฮ่องเต้’ ต้อง ‘ตัดตอน’ ความหวังของเหล่าขันที ด้วยการออกคำสั่งเด็ดขาด ให้ตัด(แต่ง)บริเวณที่ถูกตอนให้ ‘เหี้ยน’ ไม่ต้องหวังจะงอกหรือต่อให้คืนกลับมาอีก 

ทรมานขนาดนั้นแล้วจะมาเป็น ‘ขันที’ ทำไม ?

ก็เพราะเส้นทางนี้เป็นหนทางสำหรับชนชั้นล่างในการก้าวขึ้นมามีอำนาจ เพราะตำแหน่งแห่งหนของขันทีในจีนโบราณขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์ ‘ฮ่องเต้’ ด้วยความใกล้ชิดเข้านอก ออกใน ฝ่ายในได้ ฝ่ายหน้าก็ได้ บางครั้งถ้า ‘ฮ่องเต้’ ไม่วางพระทัยหมู่ขุนนางในราชสำนักก็อาจแต่งตั้งขันทีให้มีอำนาจมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำทางการทหาร ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ หรือฝ่ายปกครอง แม้ว่าหน้าที่แต่เดิมของขันทีคือการรับใช้ฝ่ายในก็ตาม

ทีนี้เรามารู้จักขันทีจีนผู้มีชื่อเสียงและชื่อเสียในหน้าประวัติศาสตร์กันดีกว่า...

เริ่มจาก...จ้าวเกา...ผู้เป็นขันที ที่ใกล้ชิดจักรพรรดิทั้งสามแห่งราชวงศ์ฉินตั้งแต่ จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิฉินที่ 2 หูไห่ และ จักรพรรดิฉินที่ 3 เจ้าอิง เป็นผู้ทำให้ราชวงศ์ฉินสู่การล่มสลาย เริ่มต้นปลงพระชนม์จักรพรรดิฉินที่ 2 ‘หูไห่’ มีวีรกรรมสั่งประหารบุคคลที่ต่อต้าน เช่น เสนาบดี ‘หลี่ซือ’ ผู้ภักดี โดยใส่ร้ายว่าเป็นกบฏแล้วประหารด้วยวิธี ‘ห้าม้าแยกร่าง’ พอเป็นเสนาบดีใหญ่ก็ทดสอบความภักดีด้วยการ ‘ชี้กวางเป็นม้า’ สำนวนที่แสดงถึงอำนาจบารมีมีที่มาทาง ‘เจ้าเก’ นี่แหละ จ้าวเกาปลิดชีวิตด้วยฝีมือของ ‘เจ้าอิง’ จักรพรรดิฉินที่ 3 ก่อนที่จะขอยอมแพ้และเปิดเมืองเพื่อให้ ‘หลิวปัง’ ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่นเข้ายึดครองและถึงจุดสิ้นสุดราชวงศ์ฉิน

กลุ่มสิบขันที เป็นกลุ่มของขุนนางขันทีที่มีอิทธิพลในราชสำนักของพระเจ้าเลนเต้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ถูกเรียกว่ากลุ่ม 10 ขันที แต่จริงๆ แล้วกลับประกอบด้วยขันทีจำนวน 12 คน และทุกคนดำรงตำแหน่ง ‘จงฉางชื่อ’ (ขันทีส่วนกลาง) ในราชสำนักของพระเจ้าเลนเต้ ได้แก่ เตียวเหยียง / เตียวต๋ง / เห้หุย / ก๊กเสง / ซุนจาง / ปี้หลัน / ลี่ซง / ต๋วนกุย / เกาว่าง / จางกง / หันคุย และซ่งเตี่ยน ขันทีกลุ่มนี้ฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมหาศาล จนเป็นเหตุทำให้ราษฎรอดยาก จนนำไปสู่การก่อกบฏ เป็นโจรโผกผ้าเหลืองในรัชสมัยพระเจ้าเลนเต้ จนสุดท้ายเกือบสิ้นราชวงศ์ฮั่นและเป็นปฐมเหตุแห่งศึก 3 ก๊ก ในเวลาต่อมา 

เจิ้งเหอ ขันทีนักสำรวจทางทะเลซึ่งเชื่อกันว่าออกสำรวจทางทะเลในระยะทางไกลที่สุดในยุคนั้น ถูกตอนเป็นขันที ใน พ.ศ. 1911 โดยทำงานรับใช้องค์ชายจูตี้ ซึ่งได้ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นฮ่องเต้ ‘หมิงเฉิงจู่’ โดยมีความเชื่อกันว่า เจิ้งเหอ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้องค์ชายจูตี้ได้ขึ้นสู่บัลลังก์ฮ่องเต้ ได้รับพระราชทาน ‘แซ่เจิ้ง’ และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นหัวหน้าขันที และผู้บัญชาการกองเรือมหาสมบัติของราชสำนักหมิง เดินทางไปปฏิบัติภารกิจหลายครั้ง ที่สำคัญคือการออกสมุทรยาตรา 2 ครั้ง ใช้ระยะเวลาทั้งสิ้น 28 ปี เดินทางผ่านประเทศต่างๆ มากกว่า 30 ประเทศ เป็นระยะทางมากกว่า 50,000 กิโลเมตร

ซุนเหยาถิง ‘ขันทีคนสุดท้ายในประวัติศาสตร์จีน’ เป็นผู้ดูแลจักรพรรดินีในสมเด็จพระจักรพรรดิปูยี ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของราชวงค์ชิง หลังจากเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ทำให้ราชวงศ์ชิงล่มสลายในปี พ.ศ. 2455 ซุนเหยาถิง ยังคงตามปรนนิบัติรับใช้จักรพรรดิปูยี พร้อมเชื้อพระวงศ์คนอื่นๆ ภายใต้การกำกับของรัฐบาล จนมีคำสั่งเนรเทศราชวงศ์ทั้งหมดให้ออกจากเขตพระราชฐาน เขาก็ติดตามนายไปอยู่ทางตอนเหนือของประเทศด้วย จนราวปี พ.ศ. 2473 ด้วยปัญหาด้านสุขภาพ จึงอำลาฐานะขันทีส่วนพระองค์แล้วเดินทางกลับมายังกรุงปักกิ่ง ในปี พ.ศ. 2539 ‘ซุนเหยาถิง’ ก็ได้จากโลกนี้ไปในวัย 94 ปี ปิดตำนานขันทีคนสุดท้ายแห่งราชวงศ์ชิง

เรื่องของ ‘ขันที’ จีน ยังมีเรื่องเล่าขนาดนี้ แล้ว ‘ขันที’ นานาชาติจะมีเรื่องราวมาเล่าต่อขนาดไหน ไว้คราวหน้าจะหามาให้อ่านนะครับ 


เรื่อง : สถาพร บุญนาจเสวี Content Manager