อว. เตรียมเด็กไทยสู่โลกอนาคต ผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม

เมื่อ (24 พ.ย. 65) ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์เด็กแห่งกรุงเทพมหานคร จตุจักร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) เตรียมเด็กไทยสู่โลกอนาคตผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม ร่วมกำหนดวิสัยทัศน์และพันธกิจในการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ในงานเสวนาวิชาการ 'สร้างพื้นที่เรียนรู้จากอดีตสู่อนาคต เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม'

ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงความสำคัญว่าทำไมต้องมีพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และศิลปกรรมช่วยพัฒนาเด็กและเยาวชนได้อย่างไร

“ศิลปะเป็นเรื่องของความงาม เป็นเรื่องของอารยสภาพ ทำให้จิตใจนุ่มนวล งดงาม อ่อนโยน ทำให้เกิดจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์อย่างไร้ขอบเขต และสร้างแรงบันดาลใจ บางครั้งภาษา หนังสือ ทฤษฎีก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เด็กและเยาวชนเกิดความคิด จินตนาการ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเข้าถึงศิลปกรรม ไม่ใช่สำหรับที่จะทำให้เด็กมีอาชีพทางศิลปกรรมเท่านั้น แต่สำหรับเด็กทุกคนที่ต้องเข้าใจ เข้าถึง และสามารถเสพศิลปะได้อย่างเหมาะสมด้วย ทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสมองมีสองซีก คือ ซีกที่เป็นเหตุผล เป็นวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ อีกซีกหนึ่งเป็นเรื่องความงาม ความนุ่มนวล อ่อนโยน เป็นสมองที่เกี่ยวกับศิลปะ สุนทรียะ อารยะ เด็กและเยาวชนควรจะได้รับการพัฒนาสมองทั้งสองซีก เด็กที่ได้รับการพัฒนาเช่นนี้จะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ของโลกต่อไปในอนาคต

"และถ้าเราจะปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงศิลปะ จำเป็นต้องมีพื้นที่การเรียนรู้พิเศษ หรือถ้าจะปลูกฝังให้พัฒนาตนเองด้านศิลปะไปถึงศิลปะขั้นสูง ขั้นอัจฉริยะ ก็จำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่วัยเยาว์ ในการนี้จึงจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่การเรียนรู้โดยเฉพาะ”

ภายในงานมีการเสวนาวิชาการหัวข้อ 'สร้างพื้นที่เรียนรู้จากอดีตสู่อนาคต เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม' โดย...

ศ.(เกียรติคุณ) ปรีชา เถาทอง ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่าแนวทางการจัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม ต้องทำให้เกิดการสังเคราะห์ได้แบบองค์รวม ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต และอย่าใช้เครื่องมือสำเร็จรูป ต้องให้เด็กได้ลงมือทำจริง

คุณโตมร ศุขปรีชา ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า พื้นที่เรียนรู้มีลักษณะเป็น ‘อุปทาน’ (Supply) ของความรู้ พื้นที่เรียนรู้จะเป็นเหมือนจุดโฟกัสของความรู้ ที่ทำให้เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ขึ้นในพื้นที่นี้ และเป็น ‘ปลายทาง’ (Destinations) ของการสร้าง ‘อุปสงค์’ (Demand) ทางความรู้ในสังคม คือเมื่อกระตุ้นให้คนอยากเรียนรู้แล้ว จำเป็นต้องมีพื้นที่เรียนรู้ให้ได้ไปหาความรู้ด้วย

คุณอนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี จิตรกรและนักศิลปะบำบัด และผู้อำนวยการสถาบันศิลปะบำบัดในแนวมนุษยปรัชญา ให้ความเห็นถึงรูปแบบการสร้างและพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม ต้องมีความหลากหลายของแนวคิดศิลปะที่เชื่อมโยงกับเด็กได้อย่างแท้จริง ต้องมองจุดนี้ให้เป็นต้นแบบในการสร้างวิถีศิลปะในชีวิตให้ได้จะส่งผลดีในการขยายไปสู่ระดับเด็ก พ่อแม่ ครอบครัว ชั้นเรียนและกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์สร้างความประณีตให้กับเด็กในรูปแบบกระบวนการต่างๆ

ทางด้าน ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน หัวหน้าทีมวิจัย โครงการสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรม กล่าวว่า นี่เป็นหนึ่งในการศึกษาวิจัยภายใต้โครงการจัดตั้ง 'สถาบันพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ' มีวัตถุประสงค์หลักในการสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดการจัดพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรมในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

โครงการฯ นี้ เริ่มดำเนินการมาได้ 2 ปีแล้ว มีการศึกษาค้นคว้าในเชิงวิชาการ และลงพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงเครือข่าย และบูรณาการพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผ่านเครือข่ายพื้นที่การเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน มีเครือข่ายกว่า 30 แห่งจาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ

ผลจากการศึกษาวิจัยและการลงพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค ได้นำมาสู่การดำเนินงานในระดับที่สำคัญอีกก้าวหนึ่ง คือการค้นหาวิสัยทัศน์และพันธกิจของพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรมในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติ ซึ่งความคิดเห็น และข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์จากผู้เชี่ยวชาญที่ได้จากการเสวนาในครั้งนี้ จะนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การดำเนินโครงการพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนผ่านคุณค่าทุนทางศิลปกรรมในพิพิธภัณฑ์ศิลปกรรมแห่งชาติต่อไป