อีเวนต์แห่งมวลมนุษยชาติ ที่คนไม่อินอาจเฉยชา แต่แบรนด์ ‘นักล่า’ คือ ช่วงเวลาสุดหอมหวน

คนไทยต้องได้ดูบอลโลก!!

ผมไม่ได้พูดแค่เอาเท่นะครับ เพราะตั้งแต่เกิดมา การแข่งขันฟุตบอลโลก มันเป็นกิจกรรมที่ผูกพันกับชีวิตคนทั่วโลก ที่พร้อมใช้เวลาแช่อยู่กับหน้าจอทีวีได้แบบไม่ขยับกันตลอดช่วงเวลาร่วม 2 ชั่วโมงกันจริง ๆ

แล้วฟุตบอลโลกก็เป็นมหกรรมกีฬาของมวลมนุษยชาติที่ 4 ปีจะมาสักรอบ ฉะนั้นคนที่เป็นคอบอล หรือแม้แต่พอดูบอลได้บ้าง รอคอยครับ!! นี่คือในแง่คนดู!!

อีกด้านหนึ่ง ฟุตบอลโลก ถือเป็นอีเวนต์ระดับพระกาฬ ที่ช่วยหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจแบบมโหฬาร บรรดาแบรนด์สินค้าและนักการตลาดจะใช้จังหวะเวลาเพิ่มยอดขายได้มากกว่าช่วงเวลาปกติ เพราะมันจะมีจังหวะให้แฟนฟุตบอลค้องใช้จ่ายระหว่างการชมการแข่งขันฟุตบอลเสมอ 

ถ้าคุณต้องเดินทางไปรับชมตาม ร้านอาหาร หรือ ลานกิจกรรมที่มีการจัดงาน การซื้อเครื่องดื่มมาบริโภค 

ถ้าคุณต้องรับชมกับเพื่อ ระหว่างการรับชม คุณอาจสร้างบรรยากาศให้สนุกขึ้น ด้วยการซื้อเสื้อทีมฟุตบอล ที่เป็นที่ชื่นชอบ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมเชียร์ฟุตบอลเป็นต้น 

นี่แค่ตัวอย่างผิว ๆ ซึ่งภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะใช้โอกาสนี้ สร้างโอกาสให้กับสินค้า รวมไปถึงกิจกรรมการตลาดที่หลากหลายได้อย่างเข้มข้น 

ลองมาดูตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยกันสักนิดครับ มีการคาดการณ์ไว้ว่า เม็ดเงินจะกระจายตัวในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภคในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกหนนี้ จะมียอดเฉลี่ยมูลค่าถึง 6,685 ล้านบาท นี่สำหรับ 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งสามารถแบ่งแยกได้ ดังนี้...

>> 5,265 ล้านบาท เทไปกับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นอีกกลุ่มที่มีการเติบโตเสมอในช่วงของฟุตบอลโลก โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์ไปเต็ม ๆ ก็เช่น ร้านอาหารที่มีบริการจัดส่งอาหาร รวมไปร้านอาหารทั่วไปที่มีการเปิดฟุตบอลโลกให้ชม ขณะที่กลุ่มอาหารอื่น ๆ ที่ทำได้เองง่าย ๆ เช่น อาหารกึ่ง สำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จ และอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เป็นต้น 

ส่วนกลุ่มเครื่องดื่ม ก็เป็น 1 ในสินค้าที่ถูกบรรจุอยู่ในแผนการใช้จ่ายทั้งสำหรับผู้คนที่จะรับชมฟุตบอลโลกทั้งในบ้านและนอกบ้านได้อย่างสม่ำเสมอ และ ณ ห้วงเวลานี้ ผมก็คงต้องขออนุญาตแชร์ว่า เครื่องดื่มมึนเมา ก็มักได้รับอานิสงส์เต็มๆ จากช่วงนี้ด้วยมากที่สุด (ก็มันได้ Feel อ่ะนะ) อย่างในช่วงไตรมาสแรกปี 2561 (ฟุตบอลโลกหนก่อน: รัสเซีย) กลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หดตัวร้อยละ 2.0 แต่พอเข้าสู่ช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกเท่านั้นแหละ มูลค่าการตลาดเครื่องดื่มรวม ก็ถูกดันเพิ่มขึ้นมาประมาณ 2,250 ล้านบาทจากช่วงเวลาปกติ 

>> ตัวเลขที่่ส่วนที่น่าสนใจ คือ ตัวเลข 910 ล้านบาท ซึ่งจะเทไปกับเสื้อผ้าอุปกรณ์กีฬาและของที่ระลึกฟุตบอล อย่างว่าแหละครับ มันคืออีเวนต์ที่สร้างขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา และองค์ประกอบ เสื้อผ้า ผ้าพันคอ ของเชียร์ มันต้องมี

>> สุดท้ายกับ 510 ล้านบาท เทไปกับกิจกรรมชิงโชค โดยตัวเลขนี้ก็มาจากการส่งชิงโชคทายผลฟุตบอลโลกผ่านช่องทางเก่าที่ยังคงได้รับความนิยม (ไปรษณียบัตร, สื่อสิ่งพิมพ์, ฉลาก/ซองสินค้า, เปิดฝาชิงโชค) ขณะเดียวกันก็จะมีการเติมกิจกรรมในรูปแบบดิจิทัลแทรกเข้ามามากขึ้น ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook / YouTube หรือ ผ่านระบบ QR code เป็นต้น 

เหล่านี้ เป็นตัวเลขค่าใช้จ่ายนับในกิจกรรมหลัก ๆ ที่จะเกี่ยวข้องกับระหว่างการติดตามชมการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งยังไม่รับรวมการกระตุ้นตลาดที่นอกเหนือไปจากนี้ที่ทำให้สินค้าอื่นๆ เติบโตตาม เช่น ทีวี, ลำโพง หรืออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคมีแผนจะซื้ออยู่แล้ว แต่อาจจะตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น จากการนำฟุตบอลโลกมาพ่วงให้เกิดโปรโมชัน

จะเห็นได้ว่ามหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกนั้น เป็นตัวเร้าให้เกิดผลบวกภาพรวมเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะในไทยหรือระดับโลก (ไม่นับการพนันนะ) ร้านเหล้าเบียร์ ร้านอาหาร แบรนด์สินค้าที่เกี่ยวเนื่อง จัดเต็มเพื่อสร้างยอดขายได้มากมายแน่นอน, นักท่องเที่ยวเยอะแน่นอน, พ่อค้าแม่ค้าทำกิจกรรมล้อไปกับบอล 

เชื่อเหอะ!! ฟุตบอลโลกไม่ใช่แค่กีฬา แต่มันคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เยี่ยมที่สุดอย่างหนึ่งจริง ๆ ลุงตู่ช่วยทีนะ!!