เบี้ยประกันภัย 'รถ EV' VS 'รถใช้น้ำมัน' ราคาที่ต้องจ่าย 'แตกต่าง' กัน แบบนี้แฟร์ไหม?

แน่นอนว่าเจ้าของรถทุกคน ย่อมจะรักรถของตนเองอยู่แล้ว และเมื่อรักแล้วก็จะซื้อกรมธรรม์ประกันภัยไว้ เพราะมันช่วยให้อุ่นใจได้ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นกรณีรถหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ ที่เราไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้น 

ฉะนั้น...การมีกรมธรรม์ประกันภัยไว้ มันทำให้สบายใจมากจริง ๆ

แต่ว่า...เบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายนั้นก็สูงเอาเรื่องอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะกับ 'รถไฟฟ้า' หรือ 'รถ EV'

ล่าสุด นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ก็ได้ประชุมหารือกับภาคธุรกิจประกันภัยที่มีการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า หรือ Electric Vehicle (รถ EV) รวมทั้งผู้แทนจากคณะกรรมการยานยนต์และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อแก้ไขปัญหาค่าเบี้ยประกันภัย หลังจากรถ EV ได้รับความนิยมมากขึ้น

ซึ่งบริษัทประกันภัย นั้นก็ได้กำหนดเบี้ยประกันรถ EV สูงกว่ารถยนต์ทั่วไป ซึ่งผลการประชุมก็ได้ข้อสรุปว่า บริษัทประกันภัยจะยังไม่มีการขึ้นเบี้ยประกันภัยในช่วงนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน  

แต่ถ้าเรามองกันให้ดี จริง ๆ แล้ว การคิดคำนวณเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ระหว่าง 'รถอีวี' และ 'รถใช้น้ำมัน' ก็ควรใช้หลักการเดิมคือ เบี้ยประกันภัยรถยนต์และทุนประกันภัย จะขึ้นอยู่กับอายุรถยนต์เป็นสำคัญ 

หากรถยนต์มีอายุมากขึ้นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ และทุนประกันภัยก็จะค่อย ๆ ลดลง แต่ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับประวัติการเคลมประกันภัยด้วยเช่นกัน

ฉะนั้นการที่รถ EV จะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัย 'แพง' กว่ารถปกติ เพราะว่ามันเป็นรถ EV นั้น จึงไม่น่าจะถูกต้องเสียทั้งหมด  

นอกจากนี้ แนวโน้มตลาดรถ EV ในบ้านเรากำลังเติบโตไปได้สวย มีประชากรรถ EV ป้ายแดงออกมาใหม่กันทุกวัน ล่าสุดที่ค่าย BYD เปิดจอง 'วันเดียว' ก็ขายไปกว่า 2,500 คันแล้ว

แต่หากดูตามหลักการแล้ว รถอะไรที่มีผู้ใช้มาก ความต้องการอะไหล่ก็จะมากตามไปด้วย ทำให้มีการผลิตส่วนอะไหล่สต็อกไว้เยอะ ยิ่งหลาย ๆ โรงงานย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยแล้วก็ยิ่งจะทำให้อะไหล่ชิ้นส่วนต่าง ๆ มีการผลิตกันอย่างมากมายเหลือเฟือ   

เมื่ออะไหล่มันมีเยอะ ก็แน่นอนว่ามันจะมีราคาถูกลงอย่างมากตามไปด้วย ถ้าอะไหล่มันราคาถูกลง แต่บริษัทประกันภัยกลับคิดเบี้ยประกันแพงขึ้น มันก็ดูออกจะสวนทางกัน 

ฉะนั้นในเรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในฐานะหน่วยงานของภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรง ก็จะต้องควบคุมให้ดี การคิดต้นทุน อะไหล่ ค่าความเสี่ยง ค่าดำเนินการต่าง ๆ ไม่ปล่อยให้บริษัทประกันตั้งคำนวณราคากันเอง ก็จะช่วยให้เบี้ยประกันนั้นมีความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน