5 มิติ โครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจไทย

จากผลงานวิจัยศึกษาของ ADB (2015) พบว่าโครงสร้างของสถาบันทางเศรษฐกิจไม่ได้เอื้อให้ผลิตภาพของแรงงานไทยเติบโตทันกับการพัฒนาของอุตสาหกรรม ซึ่งมักพึ่งพิงเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากภาคธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาผ่านการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ สมประวิณ มันประเสริฐ นักการธนาคาร จึงเสนอแนวทางในการปรับโครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจใน 5 มิติ ได้แก่

1. การพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และการสร้างนวัตกรรม 
โดยยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรม เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

2. การปรับโครงสร้างการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต 
แรงงานไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในภาคการผลิตที่มีผลิตภาพต่ำและมีทักษะต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเปรียบเทียบกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาของ World Economic Forum (2014) ยังพบว่าการศึกษาของแรงงานไทยมักไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน แนวนโยบายที่จะช่วยยกระดับการศึกษาของไทยเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณทางด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การยกระดับคุณภาพบุคลากรทางการศึกษา และสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษาและภาคการผลิตมากขึ้น

3. แก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมการแข่งขัน 
โดยการลดการปกป้องกิจกรรมทางการผลิตบางประเภทที่จำกัดการแข่งขันโดยเฉพาะในภาคบริการ ปัจจุบันไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ซึ่งมีการปรับแก้กฎหมายให้ใช้งานได้จริง และบัญญัติให้ผู้กำกับดูแลแยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระซึ่งจะเอื้อให้การบังคับใช้กฎหมายสัมฤทธิ์ผลมากขึ้น

4. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งและโลจิสติกส์ 
โดยพัฒนาระบบขนส่งให้เกิดการเชื่อมโยงเป็นโครงข่าย เช่น การพัฒนาระบบขนส่งระหว่างจังหวัดและภายในตัวเมือง การเชื่อมต่อระบบขนส่งด้วยรถไฟกับรถบัส นอกจากนั้น ไทยจำเป็นต้องพัฒนาระบบการจัดการธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ

5. ปรับโครงสร้างระบบการเงินเพื่อเพิ่มการเข้าถึงเงินทุนและการให้บริการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ 
บทบาทสำคัญของภาคการเงินคือต้องสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม (Inclusiveness) ซึ่งหมายถึงการสร้างโอกาสให้หน่วยเศรษฐกิจทุกระดับของความเสี่ยงสามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างเท่าเทียมกันภายใต้ ราคา เครื่องมือทางการเงิน และ ระบบกลไก ที่แตกต่างกัน โดยคนที่มีความเสี่ยงต่ำอาจเข้าถึงด้วยต้นทุนที่ต่ำผ่านกลไกประเภทหนึ่ง ในขณะที่คนที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องสามารถเข้าถึงเงินทุนผ่านช่องทางอื่นที่มีต้นทุนสูงกว่า


ที่มา : สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์