สะพรึง!! 'โรคไข้ฉี่หนู' ภัยเงียบที่มาพร้อมกับน้ำท่วม แต่วัคซีนป้องกันเฉพาะทาง ยังไม่มีจำหน่ายในไทย
ในขณะที่น้ำท่วมกำลังเยือนคนไทยอย่างถ้วนหน้ากันตามลำดับนั้น วันนี้ผมจึงอยากจะนำโรคที่มากับน้ำท่วมให้ทุกคนได้รู้จักกัน
โรคน้ำกัดเท้า หรือ ฮ่องกงฟุต เป็นโรคผิวหนังที่บริเวณเท้าติดเชื้อรา พบได้ทุกเพศ และทุกวัย แต่พบบ่อยกว่าในผู้ชายโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น แต่จะพบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และเนื่องจากเป็นโรคพบบ่อยจากเท้าเปียกน้ำหรือจากการลุยน้ำ บ้านเราจึงเรียกว่า 'โรคน้ำกัดเท้า' ขณะเดียวกันยังพบได้บ่อยในนักกีฬาผ่านรองเท้าที่เปียกชื้นจากเหงื่อ จึงได้ชื่อว่า 'โรคเท้านักกีฬา' (Athlete’s foot)
(***โรคนี้มีตำนานมาจากกองทัพอังกฤษที่ประจำอยู่ในฮ่องกงในช่วงสงครามฝิ่น เมื่อทหารอังกฤษเจอภูมิอากาศร้อนชื้นและฝนตกในฮ่องกงส่งผลให้ทหารอังกฤษเป็นโรคผิวหนังที่ไม่รู้จัก ซึ่งเป็นตุ่มเล็ก ๆมากมาย บ้างบวมแดง มีเป็นหนอง และคัน โดยแพทย์ยุโรปไม่เคยเจอโรคแบบนี้ จึงคิดว่ามันเป็นโรคระบาดในฮ่องกง และเรียกมันว่า 'ฮ่องกงฟุต')
โรคต่อมาเป็นโรคที่มาจากการรับประทานน้ำที่มีการปนเปื้นเชื้อโรค ซึ่งมีหลายโรคที่มีโอกาสติดเชื้อได้ในช่วงน้ำท่วมอย่างนี้ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอ, ไข้รากสาดน้อยหรือไทฟอยด์ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นโรคที่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้
อีกโรคหนึ่งที่น่าสะพรึงกลัวกว่าที่คิด ซึ่งมักมาพร้อมกับภัยน้ำท่วมเช่นนี้ และปัจจุบันในไทยก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันด้วย นั่นก็คือ 'โรคไข้ฉี่หนู'
โรคไข้ฉี่หนูเกิดจากเชื้อเลปโตสไปรา (Leptospira) ที่ถูกขับออกมาจากปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ การติดเชื้อในคนมีสาเหตุมาจากการสัมผัสดินหรือน้ำที่ท่วมขังหรืออาหารที่ปนเปื้อนปัสสาวะ, เลือด หรือเนื้อเยื่อของของสัตว์ที่มีเชื้อ เช่น สุนัข, วัว, ควาย, หนู, สุกร, ม้า หรือแม้กระทั่งสัตว์ป่าต่างๆ ได้ โดยผู้ที่ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย มีเพียงประมาณ 10-15% ที่จะมีอาการรุนแรง
เมื่อเชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและกระจายไปยังอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย มีระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการเร็วหรือช้าในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน บางรายมีอาการเร็วภายใน 2 วัน บางรายนานหลายสัปดาห์หรืออาจจะถึง 1 เดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังจากรับเชื้อ
สำหรับผู้ที่เป็นโรคฉี่หนูมักมีอาการที่เป็นลักษณะเด่น ๆ 2 ระยะ คือ ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการ อาการไข้สูง, หนาวสั่น, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ, เจ็บคอ, เจ็บหน้าอก, ไอ, คลื่นไส้, อาเจียน, ตาแดง, เยื่อบุตาบวม, มีผื่น, ต่อมน้ำเหลืองโต, ตับโต, ม้ามโต โดยอาการมักเป็นหลาย ๆ อย่างร่วมกันไม่เฉพาะเจาะจงกับอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง คล้าย ๆ กับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก, มาลาเรีย, ไข้รากสาดใหญ่ ซึ่งอาการระยะแรกนี้มักจะเป็นอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วอาการจะดีขึ้น
แต่หลังจากนั้น 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการในระยะที่ 2 ตามมา ได้แก่ การเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ, ตาอักเสบ, หลอดเลือดอักเสบ, ปอดอักเสบ, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, เลือดออกในเนื้อปอด, ตัวเหลืองตาเหลือง, ไตวายเฉียบพลัน, ภาวะเลือดออกง่ายตามอวัยวะต่าง ๆ และอาจทำให้อวัยวะต่าง ๆ ทำงานล้มเหลวและเป็นอันตรายถึงชีวิตในที่สุด
บนโลกใบนี้มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ฉี่หนูอยู่หลายชนิด อาทิเช่น วัคซีนชนิด Monovalent inactivated vaccine ของบริษัท Sanofi-Pasteur รวมทั้ง Trivalent inactivated vaccine ของบริษัท Cuba's Finlay Institute และ Polyvalent inactivated vaccine ของ Wuhan Institute of Biological Products Co., Ltd. ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นวัคซีนเชื้อตาย และวัคซีน Bivalent outer envelope vaccine ที่เป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่พัฒนาโดย Shanghai Institute of Biological Products Co., Ltd.
แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่วัคซีนทั้งหมดไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย
ผมคาดหวังว่ารัฐบาลไทยจะเห็นความสำคัญของโรคนี้อีกครั้งหนึ่ง ดังที่เคยมีการรณรงค์การป้องกันโรคฉี่หนูที่เคยมีมาในอดีต เพราะในอดีตโรคนี้มักเกิดตามเกษตรกรในต่างจังหวัด แต่เมื่อความเจริญเข้ามายังทุกเมือง รวมถึงน้ำที่สามารถท่วมได้ทุกจังหวัดแบบนี้จึงมีความจำเป็นที่ไทยควรจะมีวัคซีนชนิดนี้ไว้ เพื่อปกป้องผู้เป็นโรคไข้ฉี่หนู ไม่ใช่รอให้ผู้ที่เป็นโรคนี้รักษาไปตามอาการจนหายดีเพียงอย่างเดียว
เรื่อง : วรกร ล้ำประเสริฐ เภสัชศาสตร์บัณฑิต และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ผู้คร่ำหวอดในวงการยา