ผู้ช่วย ผบ.ตร. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เผยผลการปฏิบัติในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 เร่งรัดแก้ไขปัญหาให้ประชาชนเสร็จสิ้นแล้ว 14,470 เรื่อง

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า ตามยุทธศาสตร์ชาติ และนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่มุ่งการบูรณาการความร่วมมือ ของส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทุกภาคส่วน รวมพลังกันเพื่อทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ได้นำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” โดยมีเป้าหมาย “เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหาชุมชน สังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างยั่งยืน” โดยมอบหมายให้พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขับเคลื่อนโครงการ โดยในปัจจุบันมีเครือข่ายประชาชนแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 371,063 คน   

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวว่า ผลการปฏิบัติในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 ถึง 30 ก.ย.65 ได้รับรายงานปัญหาที่ประชาชนเดือนร้อน จำนวน 14,616 เรื่อง และได้ติดตามขับเคลื่อนและเร่งรัดให้หน่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จสิ้นแล้ว 14,470 เรื่อง ได้แก่ 

1.ปัญหาด้านสังคม เช่น ยาเสพติด การแข่งรถในทาง การลักลอบเข้าเมือง กลุ่มผู้มีอิทธิพล แหล่งอบายมุขและสถานบริการ หนี้นอกระบบ อาวุธปืน อาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์และเทคโนโลยี ฯลฯ จำนวน 10,818 เรื่อง 

2.ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพสูง การว่างงาน ความยากจนปัญหาหนี้สิน การขาดแคลนที่ทำกิน ฯลฯ จำนวน 529 เรื่อง 

3.ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การขาดแคลนแหล่งน้ำ มลภาวะทางอากาศ ฝุ่นควันโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งเสื่อมโทรมในชุมชน ภัยแล้งและอุทกภัย ฯลฯ จำนวน 2,161 เรื่อง 

4.ปัญหาด้านความขัดแย้ง เช่น ความเห็นต่างทางการเมือง ศาสนาและเชื้อชาติ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินทับซ้อน การสร้างความเดือดร้อนรำคาญในรูปแบบต่าง ๆ ฯลฯ จำนวน 962 เรื่อง และมีปัญหาที่อยู่ระหว่างหน่วยดำเนินการแก้ไข โดยได้สั่งการเร่งรัดและคาดว่าจะสามารถแก้ไขได้ จำนวน 146 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาด้านสังคม 97 เรื่อง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 30 เรื่อง ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 17 เรื่อง และปัญหาด้านความขัดแย้ง 2 เรื่อง ตามลำดับ

โดยสามารถจำแนกผลการดำเนินการของหน่วยที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนี้ บช.น. จำนวน 1,218 เรื่อง (100%), ภ.1 จำนวน 1,230 เรื่อง (99.43%), ภ.2 จำนวน 1,179 เรื่อง (100%), ภ.3 จำนวน 1,826 เรื่อง (98.33%), ภ.4 จำนวน 3,184 เรื่อง (99.41%), ภ.5 จำนวน 1,441 เรื่อง (99.65%), ภ.6 จำนวน 1,662 เรื่อง (99.94%), ภ.7 จำนวน 767 เรื่อง (99.22%), ภ.8 จำนวน 1,035 เรื่อง (98.76%) และ ภ.9 จำนวน 928 เรื่อง (93.55%) รวมทุกหน่วยสามารถแก้ไขปัญหาได้ 14,470 เรื่อง (99%)

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวต่อว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ประเมินผลการปฏิบัติตามโครงการฯ เพื่อพิจารณาคัดเลือกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ที่มีผลการปฏิบัติงานดีเยี่ยม ดีเด่น และดีมาก ในระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์การประเมิน 8 หัวข้อ ดังนี้               

1.จำนวนเครือข่ายภาคประชาชนของสถานีตำรวจที่ถูกต้องตามคุณสมบัติที่กำหนด 

2.การขับเคลื่อนเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน 

3.จำนวนปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในตำบล ชุมชน หมู่บ้านที่ได้รับแจ้ง 

4.ความครบถ้วนในขั้นตอนการแก้ไขปัญหาของคณะกรรมการในแต่ละระดับ 

5.ผลการแก้ไขปัญหาและความต้องการของประชาชน 

6.การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกินอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตำรวจ ที่มีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา และมีผลการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ประชาชนมีความพึงพอใจ (Best Practice ) 

7.การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร      

8.สถานีตำรวจสามารถควบคุมจำนวนสถิติคดีอาญา 4 กลุ่ม โดยผลการประเมิน สถานีตำรวจที่มีผลการปฏิบัติ ดีเยี่ยมที่สุด ในระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2565 ได้แก่ อันดับ 1 สภ.โคกขาม จว.สมุทรสาคร อันดับ 2 สภ.เมืองสงขลา จว.สงขลา อันดับ 3 สภ.บางละมุง จว.ชลบุรี และสถานีตำรวจที่มีผลการปฏิบัติดีเด่น 7 รางวัล ได้แก่ สน.หนองแขม บก.น.9, สภ.วัดสิงห์ จว.ชัยนาท, สภ.จอหอ จว.นครราชสีมา, สภ.ดอนหญ้านาง จว.บึงกาฬ, สภ.แม่จัน จว.เชียงราย, สภ.ตะพานหิน จว.พิจิตร และ สภ.เมืองภูเก็ต จว.ภูเก็ต ซึ่งได้เข้ารับโล่ประกาศเกียรติคุณ ในวันตำรวจ ประจำปี 2565

พล.ต.ท.ประจวบฯ ยังกล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 นี้ จะเพิ่มความเข้มข้นในการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย สามารถแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนและชุมชน ได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ได้กำชับให้ สยศ.ตร. และหน่วยที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดกำหนด Action Plan ขับเคลื่อนโครงการตั้งแต่ต้นปีงบประมาณอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม และให้สถานีตำรวจคัดเลือกเครือข่ายภาคประชาชนที่มีประสิทธิภาพ สถานีตำรวจละ 50 คน โดยจะต้องสามารถสะท้อนและร่วมกันแก้ไขปัญหาความต้องการของประชาชนและชุมชนได้จริง พร้อมกับทำความเข้าใจกับชุด ชมส. ให้ทราบแนวทางการขับเคลื่อนโครงการที่ถูกต้อง โดยเน้นการสะท้อนปัญหาความต้องการของประชาชนผ่านเครือข่าย ภาคประชาชนให้เป็นรูปธรรม ทั้งนี้พร้อมนำงานตำรวจชุมชน งานชุมชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งรัดแก้ไขปราบปรามปัญหายาเสพติดและการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน อาวุธสงคราม วัตถุระเบิด และเครื่องกระสุนปืน ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย

พล.ต.ท.ประจวบฯ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความมุ่งหวังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว จะประสบผลสำเร็จ เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ แก้ไขปัญหาความต้องการและความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อให้ชุมชนสังคมมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้          

ดังนั้นสถานีตำรวจและข้าราชการตำรวจทุกนาย จักต้องดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องจริงจัง ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนและสังคม มีความเชื่อถือ เชื่อมั่น ศรัทธา ต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติสืบไป