ทูตจีนประจำสหรัฐฯ ขอบคุณ 'อีลอน มัสก์' หลังแนะ ‘ไต้หวัน’ ยอมเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน

เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ กล่าวขอบคุณ ‘อีลอน มัสก์’ มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของโลก ที่อุตส่าห์แนะนำให้ไต้หวันยอมเป็นเขตปกครองพิเศษของจีนเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม ขณะที่ผู้แทนไทเปประจำวอชิงตันโต้เดือด ‘เสรีภาพและประชาธิปไตยซื้อขายกันไม่ได้’

เมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ‘เทสลา’ และ ‘สเปซเอ็กซ์’ ได้ออกมาเสนอแผนสันติภาพ ‘รัสเซีย-ยูเครน’ และเปิดโพลให้ชาวทวิตเตอร์โหวตจนโดนทัวร์ลงยับ ทว่าผ่านมาไม่กี่วันเขาก็เรียกแขกอีกครั้ง ด้วยการให้สัมภาษณ์กับสื่อไฟแนนเชียลไทม์สว่า ไต้หวันควรยอมสละอำนาจปกครองดินแดนบางส่วนให้ปักกิ่งเพื่อหลีกเลี่ยงสงคราม

“สิ่งที่ผมแนะนำก็คือ... ลองคิดหาวิธีจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ (special administrative zone) สำหรับไต้หวันที่พอจะยอมรับได้ แม้จะไม่ทำให้ทุกฝ่ายแฮปปี้ก็ตาม” มัสก์ กล่าว

ข้อเสนอของ มัสก์ ดูจะเป็นที่ถูกอกถูกใจจีนอย่างมาก โดย ฉิน กัง เอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ได้ออกมาทวีต “ขอบคุณ” มัสก์ เมื่อวันเสาร์ (8 ต.ค.) ที่ช่วยเสนอทางออกสำหรับความขัดแย้ง และเอ่ยย้ำข้อเรียกร้องของปักกิ่งที่ต้องการ ‘รวมชาติกับไต้หวันโดยสันติ’ ภายใต้การปกครอง ‘หนึ่งประเทศ-สองระบบ’

“ผมขอขอบคุณ @elonmusk ที่ออกมาเรียกร้องสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน และเสนอแนวคิดในการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษของจีนขึ้นในไต้หวัน” ฉิน ระบุ

“อันที่จริงแล้ว การรวมชาติอย่างสันติและการปกครองแบบหนึ่งประเทศ-สองระบบ คือหลักการขั้นพื้นฐานของเราในการแก้ไขปัญหาไต้หวันอยู่แล้ว และเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้การรวมชาติเป็นจริงได้”

“เมื่ออธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีนถูกรับรอง ไต้หวันภายหลังการรวมชาติจะได้รับสิทธิปกครองตนเองขั้นสูงในฐานะเขตปกครองพิเศษ และมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกัน”

อย่างไรก็ตาม โมเดล ‘หนึ่งประเทศ-สองระบบ’ ยังคงไม่เป็นที่ยอมรับจากพรรคการเมืองหลักๆ ในไต้หวัน อีกทั้งประชาชนไต้หวันเองก็ไม่ปลื้ม หลังจากที่เห็นชะตากรรมของคนฮ่องกงซึ่งถูกจีนเอากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติมาบังคับใช้เมื่อปี 2020

เซียว บีคิม (Hsiao Bi-khim) ผู้แทนไต้หวันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ออกมาทวีตข้อความเมื่อวันเสาร์ (8 ต.ค.) ว่า “ไต้หวันขายสินค้ามากมายหลายอย่าง แต่เสรีภาพและประชาธิปไตยเราไม่ขาย”

“ข้อเสนอใด ๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับอนาคตของเราจะต้องพิจารณาอย่างสันติ ปราศจากการข่มขู่ และเคารพความปรารถนาในระบอบประชาธิปไตยของชาวไต้หวันด้วย”

จีนซึ่งยืนกรานว่าไต้หวันเป็น ‘มณฑล’ หนึ่งของตน ไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังทหารเพื่อนำไต้หวันมาอยู่ภายใต้อาณัติ ขณะที่ทางการไต้หวันปฏิเสธการกล่าวอ้างอธิปไตยของจีนมาโดยตลอด และย้ำว่าอนาคตของไต้หวันเป็นสิ่งที่ประชากรไต้หวัน 23 ล้านคนจะต้องตัดสินใจเอง


ที่มา : รอยเตอร์
https://mgronline.com/around/detail/9650000097131