18 กันยายน พ.ศ. 2505 ประกาศ ‘เขาใหญ่’ เป็นอุทยานแห่งชาติ แห่งแรกของประเทศไทย

วันนี้ เมื่อ 60 ปีก่อน  ในสมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ประกาศให้ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย 

โดยได้รับความร่วมมือและช่วยเหลือจาก ดร.จอร์จ ซี รูห์เล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอุทยานแห่งชาติของสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งได้ดำเนินการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณป่าเขาใหญ่ ในท้องที่ ต.ป่าขะ ต.บ้านพร้าว อ.บ้านนา ต.หนองแสง ต.นาหินลาด อ.ปากพลี ต.สาริกา ต.หินตั้ง ต.พรหมมณี อ.เมือง จ.นครนายก ต.ประจันตคาม อ.ประจันตคาม ต.สัมพันตา ต.ทุ่งโพธิ์ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และ ต.มวกเหล็ก ต.ซำผักแพว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2502 ซึ่ง

พ.ศ. 2502 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เล็งเห็นว่าบริเวณเขาใหญ่นี้ มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีความสวยงาม เหมาะใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่มีปัญหาคือมีการตัดไม้ทำลายป่า จึงได้ให้มีการสำรวจพื้นที่บริเวณตำบลเขาใหญ่เดิมและบริเวณโดยรอบ โดยได้ตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติขึ้นใน พ.ศ. 2504 และมีพระราชกฤษฎีกาตั้งเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทยใน พ.ศ. 2505 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 79 ตอนที่ 86 ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2505 รวมเนื้อที่ 1,355,468.75 ไร่ หรือ 2,168.75 ตารางกิโลเมตร

นอกจากนี้ยังได้สั่งให้ตัดถนนธนะรัชต์แยกออกมาจากถนนมิตรภาพมายังตัวเขาใหญ่โดยถนนนี้ขึ้นมาบนเขาใหญ่แล้วจะแยกเป็นสองสาย คือไปสิ้นสุดที่น้ำตกเหวสุวัตสายหนึ่ง และไปสิ้นสุดที่เขาเขียวอีกสายหนึ่ง ซึ่งก่อน พ.ศ. 2525 ถนนธนะรัชต์นี้เป็นเพียงถนนสายเดียวที่จะมายังเขาใหญ่ได้

ใน พ.ศ. 2523 ได้มีการตัดถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่[6] โดยถนนนี้เปิดใช้งานใน พ.ศ. 2525 ทำให้สามารถเดินทางได้สะดวกขึ้น และเดินทางจากกรุงเทพมหานครใช้ระยะทางสั้นกว่า อีกทั้งเส้นทางยังชันและมีโค้งหักศอกน้อยกว่าถนนธนะรัชต์เดิม อีกทั้งยังทำให้การท่องเที่ยวในส่วนใต้ของอุทยานสะดวกขึ้น เช่น สามารถเดินทางมายังน้ำตกเหวนรกได้โดยตรง ซึ่งแต่เดิมจะต้องเดินเท้าเข้ามาจากอำเภอปากพลีแล้วเลาะมาตามหน้าผา แต่การตัดถนนใหม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปจอดแล้วเดินเท้าประมาณ 1 กิโลเมตรก็ถึงน้ำตกเหวนรกได้แล้ว

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับการประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติจากยูเนสโกร่วมกับอุทยานแห่งชาติอีกสามแห่งได้แก่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีกหนึ่งแห่งได้แก่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ภายใต้ชื่อ "กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"