9 กันยายน พ.ศ. 2528 เกิดกบฏ 9 กันยา พยายามยึดอำนาจ ‘พล.อ.เปรม’ ฝีมือ ‘กลุ่มทหารนอกราชการ’ อ้างศก.แย่

วันนี้ในอดีต 9 ก.ย. 2528 เกิด ‘กบฏ 9 กันยา’ ขึ้นในช่วงที่ พล.อ.เปรม นายกฯ(ในขณะนั้น) และ พล.อ. อาทิตย์ ผบ.ทบ (ในขณะนั้น) เดินทางไปราชการต่างประเทศ

เช้ามืดของวันที่ 9 กันยายน 2528 ราว 03.00 น. กลุ่ม “ทหารนอกราชการ” ได้นำกำลังทหารราว 500 นายก่อการยึดอำนาจ โดยการรัฐประหารเริ่มที่กำลังทหารจากกรมอากาศโยธินได้เข้าจับกุมตัวพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศที่บ้านพักเพื่อใช้เป็นตัวประกัน และกำลังทหารอีกส่วนหนึ่งพร้อมรถถังของกรมทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ได้เข้ายึดกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการคณะรัฐประหาร

พร้อมกับได้เข้ายึด ทำเนียบรัฐบาล ลานพระบรมรูปทรงม้า สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) โดยมี พันเอกมนูญ รูปขจร (ปัจจุบัน พลตรีมนูญกฤต รูปขจร) นายทหารที่เคยถูกให้ออกจากราชการเนื่องจากก่อกบฏเมษาฮาวายเมื่อ 4 ปีก่อนหน้าเป็นผู้นำ พร้อมด้วยนาวาอากาศโทมนัส รูปขจร น้องชาย โดยกำลังทหารที่ใช้รัฐประหารมาจากหน่วยทหารม้าที่พันเอกมนูญเคยเป็นผู้บังคับบัญชา และทหารอากาศของน้องชาย (ขาดหน่วยทหารราบซึ่งเคยเป็นกำลังสำคัญของการรัฐประหารแทบทุกครั้ง?)

นอกจากพันเอกมนูญแล้วยังมีนายทหารนอกราชการชั้นผู้ใหญ่อย่าง พลเอกเสริม ณ นคร, พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รวมถึงพลเรือนที่เป็นผู้นำแรงงาน เช่น นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายประทิน ธำรงจ้อย และนายเอกยุทธ อัญชันบุตร เจ้าของแชร์ชาร์เตอร์ ผู้เสียประโยชน์จากการปราบปรามเงินนอกระบบและทรัสต์เถื่อนของรัฐบาลในขณะนั้นเป็นผู้ร่วมก่อการ

คณะผู้ก่อการฉวยโอกาสยึดอำนาจในช่วงที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี (ในขณะนั้น) อยู่ระหว่างเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซีย และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ที่สวีเดน

ส่วนสาเหตุที่ผู้ก่อการใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งยังล้มเหลวในการรักษาความเป็นเอกภาพและบูรณภาพของประเทศ (รายงานของ The New York Times)

การปะทะกันระหว่างฝ่ายกบฏและฝ่ายรัฐบาลเกิดขึ้นบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า โดยฝ่ายกบฏได้ระดมยิงเสาอากาศวิทยุและอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และบริเวณวังปารุสกวัน ที่ตั้งของกรมประมวลข่าวกลาง (สำนักข่าวกรองแห่งชาติในปัจจุบัน) ทำให้ นีล เดวิส (Neil Davis) และวิลเลียม แลตช์ (William Latch) สองนักข่าวชาวต่างชาติเสียชีวิต

ถึงเวลาราว 15 นาฬิกา กองกำลังฝ่ายกบฏก็ยอมจำนน ความสูญเสียถึงชีวิตที่เกิดขึ้นนอกจากสองนักข่าวต่างประเทศแล้วยังมีทหารอีก 2 ราย และประชาชนอีก 1 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 60 ราย

ในช่วงต้นของเหตุการณ์ ฝ่ายกบฏได้ประกาศชื่อของ พลเอกเสริม ณ นคร ว่าเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารแต่เมื่อการยึดอำนาจล้มเหลว พลเอกเสริม กลับอ้างว่าตนรวมถึง พลเอกเกรียงศักดิ์ และพลเอกยศ ล้วนถูกบีบบังคับให้เข้าร่วม

แม้การกบฏจะมีโทษร้ายแรงถึงชีวิต แต่หลังการเจรจารัฐบาลก็ยอมให้พันเอกมนูญเดินทางไปยังสิงคโปร์ ส่วนนาวาอากาศโทมนัส สามารถหลบหนีไปได้ และในปี 2531 รัฐบาลก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องคดีกบฏในครั้งนี้

นอกจากนี้ การที่คณะกบฏไม่มีหน่วยทหารราบมาเข้าร่วมยึดอำนาจเช่นครั้งก่อนๆ ยังทำให้เกิดการสันนิษฐานว่าอาจมีผู้ร่วมก่อการบางราย “ไม่มาตามนัด” โดยเป้าจะอยู่ที่นายทหารคุมกำลังสำคัญอย่างพลโทพิจิตร กุลละวณิชย์ แม่ทัพภาคที่ 1 ที่มาฐานบัญชาการต้านรัฐประหารที่กรมทหารราบที่ 11 ล่าช้า และพลโทพิจิตรเองก็ได้เป็นผู้เจรจากับฝ่ายรัฐประหารและเปิดโอกาสให้พันเอกมนูญออกนอกประเทศ

ภายหลังเหตุการณ์กบฏ 9 กันยายน 2528 ได้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจภายในกองทัพ โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการยึดอำนาจ ได้ขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกแทนที่ พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งพลเอกเปรมประกาศในวันที่ 24 มีนาคม 2529 ว่าจะไม่มีการต่ออายุราชการให้พลเอกอาทิตย์อีกเป็นครั้งที่สอง และสั่งปลดพลเอกอาทิตย์จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในวันที่ 27 พฤษภาคม 2529 คงไว้แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด


ที่มา : https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_2356