‘ก้าวไกล’ ถาม มท.1 ช่วยครูพี่เลี้ยงถึงไหนแล้ว ยืนยัน หากตั้งใจ ‘ช่วยเหลือ-แก้ไข’ ได้หมด

‘ณัฐพงษ์-ก้าวไกล’ ตามเงินค่าอาหารเด็กเล็ก แม้จะดีใจเพิ่มจาก 20 เป็น 32 บาท แต่ความคืบหน้าการจ้างงานครู งบประมาณดูแลต่อหัวของเด็กเล็กไปจนถึงเรื่องอาคารสถานที่ต้องดีขึ้น หวังครูพี่เลี้ยงได้รับสิทธิสวัสดิการดูแลอย่างเหมาะสม

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.เขตบางแค พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้สอบถามรัฐมนตรีมหาดไทยกรณีเงินค่าอาหารกลางวันเด็กและความคืบหน้ากรณีอื่นๆ โดยเฉพาะบุคลากรของศูนย์พัฒนาเด็กในกรุงเทพ ณัฐพงษ์ เริ่มต้นอภิปราย โดยทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารกลางวันเด็ก ค่าจ้างครูพี่เลี้ยง และงบประมาณสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กเล็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในกรุงเทพ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้เดินทางมาตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ตนเองจึงต้องการสอบถามและติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยที่มาที่ไปของเรื่องนี้ คือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในกทม. ยังคงมีปัญหาเรื่องของครูพี่เลี้ยง ปัจจุบันสถานะการจ้างงานยังคงเป็นครูอาสาอยู่ ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยได้ตอบคำถามไปแล้ว โดยตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา หลังจากตั้งคำถามไปแล้ว ได้มีการยกสถานะจากครูอาสาไปเป็นลูกจ้างหรือสถานะที่ทำให้ครูอาสาได้รับสวัสดิการ ลาป่วย ได้อย่างไรแล้ว

ประเด็นที่สองที่ณัฐพงษ์ถามต่อ คือเรื่องของเงินอุดหนุน เบี้ยอาหารกลางวันเด็ก ณ ขณะที่ตนตั้งกระทู้ถามในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่าน เป็นช่วงที่ยังไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ค่าอาหารกลางวันขณะนั้นอยู่ที่ 20 บาท ก่อนจะปรับแนวนโยบายโดยผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ที่ปรับค่าอาหารกลางวันเป็น 32 บาท แต่นอกจากเรื่องดังกล่าว ยังมีเงินอุดหนุนรายหัว เช่น สื่อพัฒนาการเรียนการสอน จึงอยากสอบถามความคืบหน้า ว่ารัฐมนตรีมหาดไทยได้มีการปรึกษาหารือกับทีมผู้ว่าฯ อย่างไร

นอกจากนี้ การพัฒนาอาคารการเรียนการสอนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก แทบจะทุกศูนย์เป็นที่ดินของเอกชน ดังนั้นการพัฒนาจึงติดกฎระเบียบต่างๆ แม้ว่ากทม. จะมีงบประมาณสำหรับพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก เช่น การพัฒนาโครงสร้างถาวรอย่างสนามเด็กเล็ก ก็ไม่สามารถทำได้ ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ตนเองได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นครุภัณฑ์การเรียนการสอนอย่าง โต๊ะ ของเล่น ฯลฯ ที่สามารถเคลื่อนที่ได้ ส่วนนี้ก็สามารถพัฒนาอุดหนุน แต่ไม่สามารถพัฒนาโครงสร้างของศูนย์เด็กเล็กงบประมาณของกทม. กลับทำไม่ได้ และมีไม่เพียงพอ ทำให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในกทม. ไม่สามารถบริหารจัดการตัวเองได้เหมือนในต่างจังหวัด ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ด้านรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย อนุพงษ์ เผ่าจินดา ตอบคำถามว่าปัญหาหลายอย่างมีข้อจำกัดทางด้านข้อกฎหมาย เนื่องจากครูพี่เลี้ยงไม่ใช่ข้าราชการ จึงไม่สามารถมีสวัสดิการได้ ทำให้ณัฐพงษ์ ลุกขึ้นตั้งคำถามต่อคำตอบของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยอีกครั้ง “ในมาตรา 49(4) ท่านสามารถมอบหมายผู้ว่าฯ ไปดำเนินการได้ ซึ่ง 9 เดือนที่ผ่านมา ผมเข้าใจว่าจะต้องมีการสั่งการ และมีการติดตามเรื่อยๆ ติดขัดตรงไหน ติดตรงไหนของพ.ร.บ. คณะรัฐมนตรีสามารถแก้ไขได้ ผมว่าทำได้ครับ มันอยู่ที่เจตจำนงและแนวนโยบายว่าท่านต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้หรือไม่ ซึ่งค่อนข้างย้อนแย้งที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเมืองหลวงมีงบประมาณมากที่สุดในประเทศ แต่กลับมีคุณภาพแย่กว่าศูนย์เด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในต่างจังหวัด”