27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถึงแก่อสัญกรรม ปิดตำนานเจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม

วันนี้ เมื่อ 100 ปีก่อน เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เจ้าเมืองพระตะบองคนสุดท้าย ใต้ปกครองสยาม ถึงแก่อสัญกรรม 

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2404 จ.พระตะบอง สมัย ร.4 เป็นบุตรคนโตของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) และท่านผู้หญิงทิม ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง

เมื่อถึงอายุที่เข้ารับราชการได้ เจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) บิดา ได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระองค์ ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาราชการในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นนายรองเล่ห์อาวุธ รองหุ้มแพรมหาดเล็ก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอภัยพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเจ้าเมืองพระตะบองอยู่กับเจ้าคุณบิดา ครั้นเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง สืบแทนบิดา

พ.ศ. 2439 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมหัวเมืองฝ่ายเขมร 4 เมือง คือ เมืองพระตะบอง เมืองนครเสียมราฐ เมืองพนมศก และเมืองศรีโสภณ เข้าเป็นมณฑล เรียกว่า “มณฑลบูรพา” โปรดเกล้าฯ ให้พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น) เป็นสมุหเทศาภิบาลคนแรก

ต่อมาปี พ.ศ. 2446 พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑลเขมรถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาคทาธรธรณินทร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) เป็นทั้งสมุหเทศาฯ มณฑลบูรพา ควบกับผู้สำเร็จฯ เมืองพระตะบองทั้งสองตำแหน่ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น “เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรมนเรศร์สวามิภักดิ์ สมบูรณ์ศักดิ์สกุลพันธ์ ยุตธรรม์สุรภาพอัธยาศรัย อภัย พิริยบรากรมพาหุ”

พ.ศ. 2450 ขณะไทยมีกรณีพิพาทกับฝรั่งเศส ต้องแลกมณฑลบูรพากับเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส ท่านตัดสินใจทิ้งยศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งที่ฝรั่งเศสชวนท่านปกครองเมืองพระตะบองต่อ ร.5 ทรงตระหนักในความจงรักภักดีของท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ว่ากับฝรั่งเศสถึงเรื่องท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในที่ประชุมปรึกษาทำหนังสือสัญญานั้น คงตกลงกันว่า ฝรั่งเศสยอมชดใช้เงินให้ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และยอมให้ท่านเจ้าพระยาอภัยภูเบศรอพยพครอบครัวและบุตรหลาน ทรัพย์สมบัติอันเป็นส่วนตัวเข้ามาในพระราชอาณาจักรได้

ท่านจึงอพยพครอบครัวและบุตรหลานมาเป็นข้าราชการธรรมดา ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ตำบลเชิงสะพานยศเส จ.ปราจีนบุรี ปี พ.ศ. 2460 ได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานนามสกุลแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) และผู้สืบเชื้อสายต่อจากนั้นไปว่า “อภัยวงศ์” หลังจากนั้นท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ให้ประเทศชาติและจังหวัดปราจีนบุรีมากมาย เช่น บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และที่สำคัญ คือ ได้บูรณปฏิสังขรณ์ วัดแก้วพิจิตร ที่เมืองปราจีนบุรี โดยเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างและออกแบบเอง และนับเป็นวัดประจำสกุล “อภัยวงศ์”

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 ได้รับพระราชทานโกศ โดยได้เชิญศพไปตั้งบนตึกที่ท่านสร้างไว้ และได้รับพระราชทานเพลิงศพที่เมรุวัดแก้วพิจิตร