ล้างหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ แต่ยิ่งทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน
สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุ ล้างหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ แต่ทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน
จากกรณีที่ #ล้างหนี้กยศ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ เนื่องมาจากมีการออกมาล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นแก้ไขกฎหมายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) โดยให้รัฐบาลเป็นลูกหนี้แทนผู้กู้ โดยมีการลงชื่อผ่านเว็บไซต์ “ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการ”
ระบุไว้ว่า ปัจจุบันหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ กยศ. สูงมากกว่า 60% และก่อหนี้โดยเฉลี่ย 150,000-200,000 บาทต่อคน ใช้เวลาผ่อนชำระถึง 15 ปี และส่วนที่ชำระสูงสุดอาจถึง 50% ของค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ 30% ของเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้น สภาพหนี้สินได้ลดแรงจูงใจในการเริ่มชีวิตประกอบธุรกิจ รวมถึงการเข้าแหล่งทุนเพื่อการลงทุนต่าง ๆ ในช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิต แถมยังระบุด้วยว่า เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งขัดกับในรัฐธรรมนูญมาตรา 4 แห่งราชอาณาจักรไทย สมควรปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยแก้ไข มาตรา 44 เพิ่มเติม วรรคที่ 5 ให้ผู้ทำการกู้ที่สำเร็จการศึกษาเกิน 2 ปี และยังคงมียอดกู้คงเหลือให้ถือว่าสิ้นสุดสัญญาเงินกู้ โดยให้กองทุนเก็บยอดหนี้คงค้างจากรัฐบาลต่อไป
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม นายนพดล เภรีฤกษ์ โฆษกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ออกมาชี้แจงในเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า
ตามที่มีข่าวการล่ารายชื่อให้ยกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) นั้น
สำนักงานฯขอเรียนว่า การยกหนี้ กยศ. ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้ กยศ. แต่จะทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แต่รัฐบาลเข้าใจปัญหาของหนี้ กยศ. ตามกฎหมายปัจจุบัน จึงได้เสนอแก้ไขให้การชำระหนี้ กยศ. ยังคงเป็นไปตามหลักเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ แต่ผ่อนปรนการชำระหนี้ กยศ. ให้สอดคล้องกับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในชั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร