รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีย้ำการสื่อสารให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ที่ไทยจะได้รับในการเป็นเจ้าภาพเอเปคในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ฯ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕

เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ ครั้งที่ ๒/๒๕๖๕ ณ สัปปายะสภาสถาน รัฐสภา และผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ นางสุดฤทัย เลิศเกษม รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และคณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน เข้าร่วมกว่า ๕๑ หน่วยงานและองค์กร เข้าร่วม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำความสำคัญของการสื่อสารกับประชาชนไทยและชาวต่างชาติให้เข้าใจถึงคุณค่าของการจัดประชุมเอเปค และตระหนักถึงประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเฉพาะในมิติส่งเสริมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และการสร้างสมดุลในการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาค

ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าการเตรียมการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ครั้งที่ ๓ และความคืบหน้าการผลักดันด้านสารัตถะภายใต้ประเด็นสำคัญ อาทิ การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะการผลักดันการทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หลังโควิด-๑๙ การฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยวผ่านการเดินทางที่สะดวกปลอดภัย (Safe Passage) และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ซึ่งไทยมุ่งมั่นส่งเสริมการสร้าง “สมดุลในทุกด้าน” โดยนำแนวคิด BCG ของไทยไปแลกเปลี่ยนในเอเปค เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม ยั่งยืน และคำนึงถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

กรมสารนิเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์ “ตระหนัก เข้าใจ ใช้ประโยชน์ มีส่วนร่วม” ผ่านการจัดกิจกรรม APEC Media Focus Group (AMF) และ Informal Media Roundtable เพื่อให้ข้อมูลและสร้างความตระหนักรู้แก่สื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจในประเด็นสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับเอเปค แนวคิดหลักของการเป็นเจ้าภาพ และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสื่อสารประเด็นเกี่ยวกับเอเปคไปยังสาธารณชนและกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม และการสร้างความเป็นหุ้นส่วนหรือพันธมิตรด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (APEC Communication Partners) กับภาคธุรกิจเอกชนหลากหลายสาขา

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบความคืบหน้าการจัดตั้งศูนย์สื่อมวลชน (Media Center) ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ในเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศูนย์สื่อมวลชนจะใช้รับรองและอำนวยความสะดวกสื่อมวลชนจากทั่วโลกที่จะเดินทางมาทำข่าวในช่วงการประชุมเป็นจำนวนมากถึงประมาณ ๒,๐๐๐ - ๓,๐๐๐ คน โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำเรื่องการอำนวยความสะดวกระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อม และการดูแลเรื่องความปลอดภัยทางสาธารณสุขตามมาตรการโควิด-๑๙

ที่ประชุมฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างพันธมิตรด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ฯ กับทุกภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนการประชาสัมพันธ์ให้มีความวงกว้างและเข้าถึงทุกภาคส่วนของประเทศ และมุ่งมั่นที่จะเร่งสร้างความตื่นตัวและความรู้สึกร่วมของคนไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ซึ่งจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมในการฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจและผลักดันให้เกิดความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุม

เจนกิจ นัดไธสง  สวทท.68 รายงาน