ทส. เร่งรัดภารกิจแก้ปัญหาที่ทำกิน 'คนอยู่กับป่า' ภายใต้การดำเนินงาน คทช.

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมติดตามเร่งรัดการปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานอนุญาตใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้ โดยได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทำกินของประชาชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามนโยบายรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เร่งดำเนินงานสนองตามความต้องการของประชาชน โดยทำงานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ควบคู่กับชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 คณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ (คทช.) กำหนดแนวทางมาตรการในการบริหารจัดการที่ดิน อย่างเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าตามกรอบมาตรการและแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำหนดโดยยึดถือแนวทางการปฏิบัติงานในการแก้ปัญหาให้คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งจำแนกราษฎรที่ถือครองทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติตาม

ช่วงระยะเวลาการเข้าครอบครองและการใช้ที่ดินตามชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ และนำกรอบมาตรการ ลงไปปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาให้ราษฎรสามารถอยู่ร่วมกันกับป่าได้อย่างยั่งยืน จำนวน 4 กลุ่ม โดยสรุปผลการดำเนินงาน

- กลุ่มที่ 1 ชุมชนในลุ่มน้ำ 3,4,5 ก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 เห็นชอบในหลักการ 3.9 ล้านไร่ ภายใต้กรอบมาตรการการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ได้รับอนุญาตแล้ว 227 พื้นที่ ใน 61 จังหวัด เนื้อที่รวม 1.07 ล้านไร่ และอยู่ระหว่างดำเนินการของจังหวัดยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ 425 พื้นที่ ใน 57 จังหวัด เนื้อที่รวม 2.59 ล้านไร่ โดยกรมป่าไม้จะได้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายที่ได้วางแผนไว้

 - กลุ่มที่ 2,3 และ 4 พื้นที่เป้าหมาย 19,576 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 8.6 ล้านไร่ จะต้องดำเนินการสำรวจการครอบครองที่ดินของประชาชนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว โดยได้รับงบประมาณเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติไปแล้ว 11,988 หมู่บ้าน สำหรับหมู่บ้านที่เหลือได้กำหนดเป้าหมายในการสำรวจให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 เมื่อสำรวจการครอบครองฯ แล้ว จะนำกรอบมาตรการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ไปปฏิบัติภายใต้แผนการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ระดับพื้นที่ (ระดับหมู่บ้าน) เพื่อแก้ไขปัญหาให้ราษฎรสามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้อย่างถูกต้องต่อไป  

นอกจากเร่งรัดแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน อีกภารกิจที่กรมป่าไม้เร่งดำเนินการในส่วนของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อเข้ามาช่วยในการดูแลรักษาป่า ในรูปแบบป่าชุมชน 

โดยการส่งเสริมให้ชุมชนที่อยู่อาศัยรอบเขตป่ารวมถึงชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง เข้ามาช่วยดูแลจัดการทรัพยากรป่าไม้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ พร้อมผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ซึ่งกรมป่าไม้มีเป้าหมายในการจัดตั้งป่าชุมชนให้ครบ 15,000 แห่ง ภายในปี 2567 ในปัจจุบันกรมป่าไม้ได้จัดตั้งป่าชุมชนไปแล้ว 12,017 แห่ง มีเนื้อที่ป่าชุมชนกว่า 6.6 ล้านไร่ โดยส่งเสริมให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ป่า 13,748 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากป่าชุมชนมากกว่า 3.92 ล้านครัวเรือน เป็นแหล่งอาหาร ยารักษาโรค และผลผลิตที่ได้จากป่าชุมชนยังสร้างรายได้เศรษฐกิจภายในชุมชน และต้นไม้ภายในป่าชุมชนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้กว่า 42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ และยังเพิ่มการกักเก็บน้ำในดินเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ระบบนิเวศและกักเก็บน้ำผิวดินในธรรมชาติ 

นอกจากนี้ นโยบายรัฐบาลกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 55% จำนวน 177.95 ล้านไร่ จากพื้นที่ประเทศ 323.53 ล้านไร่ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2580 โดยเป็นพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่ป่าธรรมชาติ 31.68% คิดเป็นพื้นที่ 102.49 ล้านไร่ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ 8.28% คิดเป็นพื้นที่ 26.78 ล้านไร่ และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท 2% คิดเป็นพื้นที่ 6.47 ล้านไร่ ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 41.96% คิดเป็นพื้นที่ 135.74 ล้านไร่ เหลืออีกเพียง 13.04% จะแล้วเสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ภายใน ปี 2580 ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้เร่งดำเนินการในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ให้ครบตามเป้าหมายที่กำหนดโดยเร็ว