รู้จัก ‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’ สถาปัตยกรรมอันงดงาม บนผืนแผ่นดินไทย

มาชมความงดงามแห่งพระอาราม ‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’ หรือ ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ ภาพจิตรกรรมอันวิจิตร มากด้วยประวัติศาสตร์แห่งกาลเวลา

หากใครเคยผ่านไปบริเวณวิทยาลัยนาฏศิลป์ เชิงสะพานปิ่นเกล้า ต้องเคยเห็นอาคาร ที่มีลักษณะคล้ายโบสถ์อย่างแน่นอน และต้องสักวาบความคิด สงสัยว่า อาคารหลังนี้คืออะไร แน่นอน สถานที่นี้ คือ โบสถ์ ส่วนที่เหลืออยู่ของวัดทั้งวัดในอดีต

‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’ หรือ ที่เรียกกันตามภาษาปากว่า ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ หากมีโอกาสได้เข้าไปภายในพระอุโบสถแห่งนี้ สิ่งที่น่าสนใจของสถานที่แห่งนี้ คือ ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีทั้งเรื่องราวเทวดา เทพเจ้า ป่าหิมพานต์ เป็นต้น

รวมทั้งมีพระแท่นกลางพระอุโบสถ ที่มีตำนานเกี่ยวกับเรื่องราวความเชื่อทางไสยเวทวิทยาคม ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ส่วนในประวัติศาสตร์จริงนั้น เป็นพระแท่นที่สร้างไว้เพื่อเตรียมการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทธไธสวรรย์ มาประดิษฐานยังพระอุโบสถ

สำหรับประวัติของวัดแห่งนี้ เริ่มต้นการเป็นวัดในครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก ชื่อว่า ‘วัดหลวงชี’ เพื่อให้ นักนางแม้น ซึ่งเป็นมารดาของนักองค์อี ธิดาในสมเด็จพระอุไทยราชา พระเจ้ากรุงกัมพูชา พระสนมเอกในพระองค์ ใช้สำหรับจำศีล

ในสมัยของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ วัดหลวงชีทรุดโทรมลง พระองค์จึงโปรดให้รื้อกุฏิออก ทำเป็นสวนกระต่าย จนมาถึงสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงสร้างวัดขึ้นแทนสวนกระต่าย เรียกว่า ‘วัดพระแก้ววังหน้า’ แต่การสร้างไม่เสร็จสิ้นเพราะพระองค์เสด็จทิวงคตก่อน มาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานนามว่า ‘วัดบวรสถานสุทธาวาส’

ในยุคของรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงให้ยกเลิกตำแหน่งกรมพระราชวังบวรมงคล แล้วสถาปนารัชทายาทในตำแหน่งสยามมกุฏราชกุมารแทน วังหน้าที่ทรุดโทรมลง รวมถึงวัด พระองค์ให้โปรดรื้อแนวกำแพงวังหน้าและตัววัดออก เหลือเพียงพระอุโบสถ

เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จสวรรคต รัชกาลที่ 5 ทรงให้ใช้พระอุโบสถ เป็นพระเมรุพิมาน ประดิษฐานพระศพเวลาสมโภชและบำเพ็ญพระราชกุศล หลังจากนั้น ก็ได้ใช้ในการเป็นสถานที่พระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายหลายพระองค์

ปัจจุบัน พระอุโบสถแห่งนี้ ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีไหว้ครู พิธีครอบครู และพิธีมงคลต่าง ๆ ของบรรดานาฏศิลปิน ดุริยางคศิลปิน และกรมศิลปากร


ที่มา : https://www.komchadluek.net/kom-lifestyle/522382 
https://kitnew.co/thestudytimes/2022072202