'จีน' สั่งแบน!! ปลาเก๋านำเข้าจากไต้หวัน ฟากรัฐบาลไทเปสู้กลับ ขู่ฟ้อง WTO

ความตึงเครียดระหว่างจีน และไต้หวัน ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง และเมื่อวันศุกร์ (10 มิ.ย. 65) ที่ผ่านมา กรมศุลกากรจีนแถลงว่า ตรวจพบสาร Oxytetracycline ในปลาเก๋าที่นำเข้าจากไต้หวัน ซึ่งเป็นสารเคมีต้องห้าม ทำให้ทางการจีนออกคำสั่งแบนการนำเข้าปลาเก๋าจากไต้หวันทันที มีผลตั้งแต่วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายนนี้เป็นต้นไป 

แน่นอนว่าเรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในไต้หวัน เนื่องจากพอทางการไต้หวันได้นำปลาเก๋ามาตรวจเอง ก็ไม่พบสารเคมีอันตราย หรือต้องห้ามแต่อย่างใด และเชื่อว่าคำสั่งห้ามนำเข้าปลาเก๋าจากไต้หวันของจีน จึงน่าจะเป็นการกดดันทางการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลจีนก็เคยแบนผลผลิตทางการเกษตรของไต้หวันมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่สับปะรด และแอปเปิ้ล ที่เป็นผลไม้ขึ้นชื่อจากไต้หวัน ที่จีนสั่งห้ามนำเข้าและตีกลับทั้งล็อต จนรัฐบาลไทเปต้องเร่งออกแคมเปญขนานใหญ่ ทำการตลาดหาผู้ซื้อรายใหม่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และมาคราวนี้เป็นปลาเก๋า ที่เพาะเลี้ยงจากบ่อในไต้หวันอีก

แม้ว่าปลาเก๋าไต้หวันกว่า 90% จะบริโภคกันเองในประเทศเป็นหลัก และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ส่งออก ทำให้ผลกระทบกับตลาดปลาเก๋าไต้หวันค่อนข้างน้อย แต่ทว่าจำนวนปลาเก๋าที่ส่งออกทั้งหมดนั้น ถูกส่งเข้าตลาดจีนถึง 90% หรือคิดเป็นปริมาณถึง 6 พันตันต่อปี

นั่นจึงสร้างปัญหาให้แก่ผู้ส่งออกชาวไต้หวันไม่น้อย ที่ต้องเร่งหาตลาดแหล่งใหม่ระบายปลาเก๋าในส่วนของตลาดจีนโดยทันที 

เรื่องนี้ร้อนถึงสภาเกษตรกรไต้หวัน ที่กล่าวหาว่าจีนได้ละเมิดกฏข้อบังคับทางการค้าสากลอย่างร้ายแรง โดย นายเฉิน ฉีชุง ประธานสภาเกษตรกรเรียกร้องให้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เหตุจีนกลั่นแกล้งทางการค้า ด้วยข้ออ้างเรื่องสินค้าปนเปื้อนสารพิษที่ไม่เป็นจริง 

และมีการยกประเด็นที่จีนเคยใช้ข้ออ้างเรื่องการพบสารพิษในสินค้าเกษตร ในการยกเลิกการรับซื้อสินค้าที่ทำให้เกษตรกรท้องถิ่นเดือดร้อน เช่นกรณีระงับการนำเข้าลำไยของไทยกรณีพบเพลี้ยแป้งในผลผลิต

โดยทางไต้หวันพร้อมที่จะส่งข้อมูลการตรวจสอบสารพิษในปลาเก๋าของตน ว่าตรงตามข้อตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ที่อยู่ภายใต้องค์การการค้าโลกหรือไม่ และเรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบของตนออกมาเช่นกัน 

ทั้งนี้จากปัญหาเรื่องการนำเข้าสินค้าสินค้าไต้หวันสู่ตลาดจีนหลายครั้ง ทำให้รัฐบาลไต้หวันต้องหาทางช่องทางส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นทดแทน ซึ่งคู่ค้าที่สำคัญของไต้หวันนอกจากจีน ได้แก่ ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา ที่ได้ราคาดีกว่า แต่ปริมาณการนำเข้า และความสะดวกในช่องทางขนส่งยังไม่อาจเทียบเท่าตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ได้ในขณะนี้เท่านั้นเอง


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: The Print / Taiwan News / Channel News Asia