เคลียร์ชัด!! พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ ‘PDPA’

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า PDPA (Personal Data Protection Act) หรือ พระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ที่ก่อนหน้านี้มีผลใช้บังคับแล้วบางหมวด บางมาตรา จะมีผลใช้บังคับทั้งหมดในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของแต่ละคน ตั้งแต่การมอบข้อมูล และการบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง ที่อยู่ในมือของคนอื่นอย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องสิทธิของตนไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิส่วนตัว

ทั้งนี้ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบกรอบของ PDPA ว่าสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง ภายใต้เงื่อนไขที่มีการระบุไว้ก่อนหน้า

สำหรับ PDPA นั้น มีประเด็นที่ประชาชนควรรู้ ดังนี้…
1. ข้อมูลส่วนบุคคล คือ ข้อมูลเที่ยวกับบุคคล ซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมเฉพาะ เช่น ชื่อ ที่อยู่ หมายเลข ประจำตัว ข้อมูลสุขภาพ ฯลฯ (มาตรา 6)

2. ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งเราไว้ก่อนหรือในขณะเก็บรวบรวม (ห้ามใช้นอกเหนือวัตถุประสงค์) (มาตรา 21)

3.ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของเราเท่าที่จำเป็น ภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบ
ด้วยกฎหมาย (มาตรา 22) (ใช้ข้อมูลของเราให้น้อยที่สุด)

4. ความยินยอม เป็นฐานการประมวลผลฐานหนึ่งเท่านั้น ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่ในการกำหนดฐานการประมวลผล ให้สอดคล้องกับลักษณะการประมวลผล และความสัมพันธ์ระหว่างผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (ตามมาตรา 24 หรือมาตรา 26)

5. ในการขอความยินยอม ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องคำนึง อย่างที่สุดในความเป็นอิสระของเจ้าของ ข้อมูลส่วนบุคคล (ต้องไม่มีสภาพบังคับในการ ให้ / ไม่ให้) (มาตรา 19 วรรคสี่)

6. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิ...
(1) สิทธิในการถอนความยินยอม ในกรณีที่ได้ให้ความยินยอมไว้ (มาตรา 19 วรรคห้า)
(2) สิทธิได้รับการแจ้งให้ทราบรายละเอียด (Privacy Notice) (มาตรา 23)
(3) สิทธิขอเข้าถึงและขอรับสำเนาข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 30) สิทธิขอให้โอนข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 31)
(5) สิทธิคัดค้านการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 32)
(6) สิทธิขอให้ลบหรือทำลาย หรือทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ (มาตรา 33)
(7) สิทธิขอให้ระงับการใช้ขอมูลส่วนบุคคล (มาตรา 34)
(8) สิทธิขอให้แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล (มาตรา 35)

7. PDPA ใช้กับการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็ตาม (มาตรา 5)

8.ในกรณีที่เหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลมีความเสี่ยงสูง ที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลมีหน้าที่แจ้งเหตุการณ์ละเมิดให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบ พร้อมกับแนวทางการเยียวยาโดยไม่ชักช้า (มาตรา 37 (4) )

9.ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล มีหน้าที่จัดทำบันทึกรายการกิจกรรม เพื่อให้สำนักงานสามารถตรวจสอบได้ โดยจะบันทึกเป็นหนังสือหรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

10. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล มีสิทธิร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม PDPA
หรือประกาศฯ ที่ออกตาม PDPA (ทั้งนี้ กระบวนการร้องเรียนเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการฯ ประกาศกำหนด) (มาตรา 73)

ส่วนเรื่องที่หลายคนกำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับ PDPA นั้น ประชาชนสามารถศึกษารายละเอียดที่ถูกต้องได้ตามนี้…

1. การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA
✨กรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
2. ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA 
✨สามารถโพสต์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 
3. ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA 
✨การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน 
4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้ 
✨ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว 
- เป็นการทำตามสัญญา 
- เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ 
- เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล 
- เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ 
- เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
- เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง

หมายเหตุ: มาตรา 4(1) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น / หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นรายกรณี


 ที่มา : PDPC Thailand
https://www.facebook.com/pdpc.th/posts/154360710438028
https://www.facebook.com/pdpc.th/posts/153387347202031