เวทีเช็กเสียง ยกระดับคว่ำบาตร เกมหยั่งเสียงจาก ‘สหรัฐฯ’ แม้รู้ว่า ‘จีน-รัสเซีย’ ต้อง Veto ป้องโสมแดง

เมื่อ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ‘จีน’ และ ‘รัสเซีย’ ได้ขอใช้สิทธิ์ในการเป็นสมาชิกถาวร Veto ญัตติของสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการให้องค์การสหประชาชาติเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือให้เข้มข้นยิ่งขึ้น จากการที่เกาหลีเหนือได้ทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปเมื่อเร็วๆ นี้

กรณีเกาหลีเหนือยิงทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลถึง 3 ลูก ทางด้านชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรเกาหลี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (25 พ.ค.65) ไล่หลัง โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ ที่เพิ่งจบภารกิจการเยือนญี่ปุ่น และเกาหลีใต้เป็นเวลา 5 วันอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่ชั่วโมงนั้น ทางสหรัฐฯ มองว่าเป็นการท้าทายอย่างชัดเจน จนเป็นเหตุให้รัฐบาลวอชิงตัน ต้องชงญัตติเพิ่มระดับการคว่ำบาตรโสมแดงเข้าที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะครอบคลุมถึงการลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันสำหรับประชาชนเกาหลีเหนือจาก 4 ล้าน ให้เหลือแค่ 3 ล้านบาร์เรลอีกด้วย

สหรัฐฯ ได้อ้างเหตุผลว่า เกาหลีเหนือได้ละเมิดข้อตกลงที่ให้ไว้กับสภาความมั่นคงในปี 2017 ว่าจะระงับการพัฒนาขีปนาวุธพิสัยไกล แต่ทว่ารัฐบาลเปียงยางกลับรื้อฟื้นแผนการทดสอบขีปนาวุธขึ้นมาใหม่ และอ้างว่าสามารถพัฒนาได้ถึงขั้นขีปนาวุธพิสัยไกลข้ามทวีปได้แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ฟาก จีน ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของเกาหลีเหนือ ก็ได้จับมือกับรัสเซีย ใช้สิทธิ์สมาชิกถาวรของสภาความมั่นคง คัดค้านข้อเสนอของสหรัฐฯ โดยมองว่าข้อตกลงร่วมเรื่องการคว่ำบาตรตามหลักการแบบเดิมก็เหมาะสมอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร หรือตั้งให้เป็นข้อบังคับที่มีผลกับทุกประเทศในสหประชาชาติเพียงเพื่อต้องการเล่นงานเกาหลีเหนือ 

จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวว่า “แทนที่เราจะใช้แต่มาตรการคว่ำบาตร ที่ทางสหรัฐฯ ต้องการแต่เพียงฝ่ายเดียว เราควรหาทางออกด้วยข้อตกลงร่วมกันทางการเมืองจะดีกว่า และต้องไม่ลืมว่า การบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรอย่างเข้มงวด จะมีผลกระทบด้านมนุษยธรรมอย่างแน่นอนกับประชาชนเกาหลีเหนือที่ตอนนี้กำลังประสบปัญหาการระบาดของ Covid-19”

ขณะที่ด้านเอกอัครราชทูตรัสเซีย นาย วาสสิลี เนเบนเซีย ก็ได้ออกมากล่าวหาสหรัฐฯ กรณีละเลยข้อเรียกร้องของเกาหลีเหนือให้หยุดการกระทำยั่วยุ สืบเนื่องจากประเด็นการนัดพบผู้นำญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เพื่อหารือเรื่องการร่วมมือด้านการทหารของ โจ ไบเดน ในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว 

ส่วนชาติสมาชิกอื่นๆ แม้จะยกมือสนับสนุนสหรัฐฯ แต่หลายประเทศก็งดแสดงความเห็นในประเด็นนี้ เพราะคาดการณ์ไว้แล้วว่า จีน และ รัสเซียจะต้อง Veto ญัตติของสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน

ฉะนั้น หากพิจารณาดูว่า ทางรัฐบาลสหรัฐฯ ก็น่าจะรู้ผลลัพธ์ที่จะออกมา เพียงแต่ที่ยังยืนยันยื่นญัตติ ก็ทำให้คิดออกแค่มุมเดียวว่า เหล่าชาติมหาอำนาจกำลังเลือกใช้สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เป็นเวทีเพื่อแสดงจุดยืน หรือสัญลักษณ์ทางการเมืองบางอย่าง เพื่อเช็กฐานเสียง และแนวร่วม ว่ายังอยู่ครบตามคาดหมายเท่านั้นเอง


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: France 24 / Al Jazeera