29 มีนาคม พ.ศ. 2430 วันเกิด ‘พระยาพหลพลพยุหเสนา’ บุคคลสำคัญผู้มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นามเดิม พจน์ พหลโยธิน เป็นนายทหารปืนใหญ่ เชษฐบุรุษ และนายกรัฐมนตรีไทยคนที่สอง ทั้งยังเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือผู้ก่อการปฏิวัติสยามใน พ.ศ. 2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังเป็นผู้นำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

โดยนายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา มีนามเดิมว่า “พจน์ พหลโยธิน” เกิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 เวลา 03.30 น. ณ บ้านหน้าวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (ถิ่น พหลโยธิน) (บางตำราว่าเขียนนามบิดาของท่านว่า กิ่ม และบางตำราว่าเขียนนามมารดาของท่านว่า จีบ) กับคุณหญิงจับ พหลโยธิน สมรสกับคุณหญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา

ในด้านของการศึกษา นายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เริ่มการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) และย้ายไปศึกษาต่อที่โรงเรียนสุขุมาลวิทยาลัย จนกระทั่งเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียน นายร้อยทหารบก โดยมีผลการเรียนดีมาตลอด ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ได้รับทุนรัฐบาลไปศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบกในเมืองโกรสลิสเตอร์ เฟล เด ประเทศเยอรมนี ศึกษาอยู่ 3 ปี ต่อจากนั้นได้เข้าประจำอยู่ในกองทัพบกเยอรมัน สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 ในปี พ.ศ. 2455 ได้เดินทางไปศึกษาต่อวิชาช่างแสงที่ประเทศเดนมาร์ก เรียนได้ปีเดียวถูกเรียกตัวกลับเนื่องจากเงินทุนการศึกษาไม่เพียงพอ อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

โดย นายพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา รับราชการครั้งแรกประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ 4 จังหวัดราชบุรี และเลื่อนขั้นขึ้นมาตามลำดับ จนวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพหลพลพยุหเสนา” มีราชทินนามเดียวกับบิดา

ในด้านบทบาททางการเมืองของ พระยาพหลพลพยุหเสนา นับว่าสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทยไม่น้อย โดยได้ร่วมกับ “คณะราษฎร” โดยเป็นหัวหน้าคณะราษฎรและเป็นหัวหน้าสายทหารบก ทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ในปี พ.ศ. 2475 ได้รับตำแหน่งพิเศษ เป็นกรรมการกลางกลาโหม ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 จึงได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก (บางตำราเดือนกรกฎาคม) และดำรงตำแหน่งกรรมการราษฎร รัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา

ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้กระทำรัฐประหารรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (สมัยที่ 3) อันเนื่องมาจากคณะรัฐมนตรีปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญ โดยนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (ยศในขณะนั้น) ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทยหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ต่อมาในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออก โดยอ้างเหตุผลว่าหย่อนความรู้ในทางกฎหมายและการเมือง แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขอร้องให้รับตำแหน่งต่อไปและทรงแจ้งไปยังสภาฯ ขอให้สนับสนุนคำขอร้องของพระองค์ท่านด้วย ที่ประชุมสภาฯ ได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีบางตำแหน่ง

รัฐมนตรีที่เข้าดำรงตำแหน่งใหม่ ซึ่งควรกล่าวถึง คือ นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2476 (ต่อมาคือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 8) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2476 (ต่อมาคือ นายกรัฐมนตรีคนที่ 7)

ตลอดระยะเวลาที่บริหารประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเผชิญกับปัญหานานัปการ จนต้องลาออกจากตำแหน่งหลายครั้ง และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งใหม่ รวม 5 สมัย และเป็นแม่ทัพใหญ่ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับยกย่องเป็น “เชษฐบุรุษ” เนื่องจากมีคุณูปการต่อบ้านเมืองเป็นหัวหน้าคณะราษฎรทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองนำระบอบประชาธิปไตยมาสู่ปวงชนชาวไทย และตลอดชีวิตได้รับราชการด้วยความซื่อสัตย์ (ในหนังสือ 100 ปี พระยาพหลฯ ของสำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์ เรียบเรียงโดย นเรศ นโรปกรณ์ ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในหน้า 9 ว่า...

เมื่อท่านถึงแก่อสัญกรรม ในบ้านมีเงินเพียง 177 บาท ไม่พอแม้ซื้อโลงศพท่านเอง จนรัฐบาลต้องอุปถัมภ์ แม้หนังสือแจกในงานศพรัฐบาลสมัยนั้นซึ่งพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องอุปถัมภ์งานศพ รวมทั้งช่วยจัดหนังสืออนุสรณ์ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เขียนคำนำเอง) จนได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งของไทยและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหารเป็น พลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก โดยก่อนหน้านี้ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาพหลพลพยุหเสนา” และมีตราประจำตระกูลเป็นรูปเสือในกงจักร โดยมีคำขวัญประจำตัวว่า “ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชายต้องไว้ชื่อ”


ที่มา : https://th.wikipedia.org/wiki/พระยาพหลพลพยุหเสนา_(พจน์_พหลโยธิน)


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes