เซเลนสกี รับ ‘ยูเครน’ ไม่ควรเข้านาโต ชี้ เวลา 20 วัน ทำให้รู้ใครคือ ‘เพื่อนแท้’

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ออกมายอมรับว่า ประเทศยูเครนไม่น่าจะสามารถเข้าร่วมกับองค์กรสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ได้

ระหว่างประชุมผ่านระบบวิดีโอกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของยูเครน เซเลนสกีกล่าวว่า “ยูเครนไม่ใช่สมาชิกนาโต เราเข้าใจดี เรารู้ว่าแค่ไหนคือควรจะพอได้แล้ว”

“เราได้ยินมาหลายปีแล้วว่าประตูเปิด แต่เราก็ได้ยินมาเช่นกันว่าเราไม่สามารถเข้าร่วมได้ มันเป็นความจริงและเราต้องยอมรับ” เซเลนสกีกล่าว และว่า “ผมดีใจที่คนของเราเริ่มเข้าใจเรื่องนี้ และพึ่งพาตนเอง รวมถึงพันธมิตรของเราที่ช่วยเหลือเรา”

ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ได้เรียกร้องให้มีการห้ามยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต โดยยืนยันว่านี่คือ “หลักประกันความมั่นคง” ที่รัสเซียต้องการ

เซเลนสกียังได้ปราศรัยกับสมาชิกรัฐสภาแคนาดา และพูดให้คิดว่าพวกเขาจะทำอย่างไรหากอยู่ในสถานการณ์เดียวกับยูเครน

“คุณลองนึกภาพว่าคุณกำลังเรียกมิตรประเทศ และบอกพวกเขาว่า ‘ได้โปรดปิดน่านฟ้า และหยุดระเบิด’ พวกเขาตอบคุณว่าพวกเขามีความกังวลอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับสถานการณ์ เราพูดคุยกับพันธมิตรของเรา แต่พวกเขาบอกว่า ‘ขอให้รอต่อไปอีกหน่อย’ ” เซเลนสกีกล่าว

ผู้นำยูเครนบอกว่า สถานการณ์ขณะนี้เลวร้ายมาก แต่ก็ทำให้เราได้รู้ว่าใครคือเพื่อนแท้ของเราในช่วง 20 วันที่ผ่านมา

นักข่าวบีบีซีวิเคราะห์ว่า คำกล่าวของเซเลนสกีสะท้อนให้เห็นถึงความคับข้องใจของเขาต่อนาโต แต่มันก็เป็นข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีมานานหลายปีทั้งในยูเครนและสหภาพยุโรป (อียู) ว่ายูเครนไม่น่าจะเข้าร่วมกับนาโตในเร็วๆ นี้ได้

คำพูดของเซเลนสกีที่เกิดขึ้นหลัง 3 สัปดาห์ในความขัดแย้งอันนองเลือด ท่ามกลางการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติการต่อสู้ สะท้อนว่ายูเครนควรยอมรับความจริงนั้น โดยเขาพูดถึงความสำคัญของการค้นหา “รูปแบบใหม่ของความร่วมมือ…กับชุมชนที่มีอยู่” เพื่อให้ยูเครนสามารถมีการรับประกันความปลอดภัยที่เชื่อถือได้

บทวิเคราะห์ของนักข่าวบีบีซีระบุว่า นี่อาจเป็นคำใบ้ของการยอมอ่อนข้อให้ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่อาจเกิดขึ้นกับรัสเซีย ซึ่งต้องการให้ยูเครนยอมรับสถานะที่เป็นกลางบางอย่าง

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าความกังวลต่อการเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนอาจไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ความกังวลที่แท้จริงของปูตินคือการที่ยูเครนมุ่งความสนใจไปกับการสานสัมพันธ์ในวงกว้างกับชาติตะวันตกอย่างอียูและต้องการเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น


ที่มา : https://www.matichon.co.th/foreign/news_3235314