“ปชป.”หนุนประชาชนเป็นสมาชิกพรรค ไม่ต้องเสียเงิน ชี้ไม่ควรเอากการฉ้อฉลของบางพรรค มาปิดกั้นการมีส่วนร่วม 

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ฉบับที่.. พ.ศ…. พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  ได้หยิบยกในประเด็นเงินค่าบำรุงพรรคการเมืองว่า หลักการมีส่วนร่วมในทางการเมือง สิทธิขั้นพื้นฐานคือประชาชนสามารถเข้าร่วมดำเนินกิจกรรมกับพรรคการเมืองได้อย่างกว้างขวางและเต็มที่ โดยเฉพาะการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ควรมีจำนวนเงินมาขวางกั้นการเข้าเป็นสมาชิกพรรค ไม่ว่าประชาชนจะมีฐานะร่ำรวยหรือไม่มีฐานะ ก็จะต้องเกิดความเท่าเทียมกันในการเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองโดยการเป็นสมาชิกพรรค เงินจำนวน 100 บาท หรือ 2,000 บาทกรณีรายปี อาจจะดูไม่มากสำหรับคนที่มีฐานะ แต่สำหรับชาวบ้านถือว่าจำนวนเงินเป็นอุปสรรคต่อการเข้าเป็นสมาชิกพรรคอย่างแน่นอน

นายราเมศกล่าวต่อว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนที่จะมีการยกเลิกสมาชิกหากไม่มีการยืนยันสมัย คสช เคยมีสมาชิกมากที่สุดกว่า 3 ล้านคน โดยกฎหมายที่ผ่านมามีทั้งเก็บเงินค่าบำรุงและไม่มีการเก็บค่าบำรุง แต่กรณีไม่เก็บเงินค่าบำรุงพรรค ประชาชนจะให้ความสนใจเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด การเข้ามามีส่วนร่วมในหลายเรื่องมีค่ามากกว่าเงิน 100 บาท เช่น การนำเสนอแนวนโยบาย การช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมและผลงานของพรรค รวมถึงการร่วมในการดำเนินกิจกรรมกับพรรคในรูปแบบอื่นๆมากมาย อาจจะมีการอ้างว่าเพื่อป้องกันการระดมใช้วิธีการฉ้อฉลของพรรคการเมืองที่จะไปนำเอาสำเนาบัตรประชาชนแล้วมาปลอมการสมัคร ในประเด็นนี้คิดว่า ไม่ควรตั้งหลักการฉ้อฉลของพรรคการเมืองบางพรรค มาปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ควรหาวิธีการป้องกันสิ่งเหล่านี้อย่างรัดกุมและจริงจัง 

“ที่จริงแล้วกฎหมายพรรคการเมืองในปัจจุบัน มาตรา 30 ได้กำหนดห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรค และในส่วนของประชาชนก็ระบุไว้ชัดในมาตรา 31 ว่าห้ามมิให้ เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก

ฉะนั้นการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองไม่ให้มีการเก็บค่าบำรุงจากประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมคือแนวทางที่เหมาะสมที่สุด และในภาคปฎิบัติของนายทะเบียนพรรคการเมือง และพรรคการเมืองจะต้องร่วมกันส่งเสริมให้การเข้าเป็นสมาชิกพรรคได้อย่างเสรีและสุจริต เพราะหากจูงใจให้เป็นสมาชิกพรรคด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย อาจจะถูกยุบพรรคและติดคุกได้ตามกฎหมายปัจจุบันอยู่แล้ว ดังนั้นเชื่อว่าประเด็นนี้จะมีการถกเถียงกันในชั้น กมธ.ฯอย่างกว้างขวางแน่นอน”นายราเมศ กล่าว