สหรัฐฯ - อียู หารือแผนหนุนรัฐบาลพลัดถิ่น รองรับกรณี ปธน.ยูเครนหนีออกนอกประเทศ

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยุโรปกำลังหารือกันถึงแนวทางที่ตะวันตกจะให้การสนับสนุนรัฐบาลพลัดถิ่นที่กุมบังเหียนโดย โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ในกรณีที่ประธานาธิบดียูเครนรายนี้จำเป็นต้องหลบหนีออกนอกประเทศ ท่ามกลางการรุกรานของรัสเซีย แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ตะวันตกบอกกับซีเอ็นเอ็น

ซีเอ็นเอ็นรายงานโดยอ้างเจ้าหน้าที่ ระบุว่า การหารือนั้นเป็นการพูดคุยกันในขอบเขตต่างๆ ไล่ตั้งแต่การให้การสนับสนุนเซเลนสกีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของยูเครน ในความเป็นไปได้ที่จะต้องย้ายไปยังเมืองลวิว ทางภาคตะวันตกของยูเครน ไปจนถึงความเป็นไปได้ที่ เซเลนสกี และบรรดาผู้ช่วยของเขา จำเป็นต้องหลบหนีไปจากยูเครน และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ในโปแลนด์

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวบอกว่าการพูดคุยครั้งนี้เป็นเพียงการหารือในเบื้องต้นและยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ

บรรดาเจ้าหน้าที่ตะวันตกระมัดระวังไม่อยากพูดคุยถึงการจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นกับเซเลนสกีโดยตรง เนื่องจากเขาต้องการปักหลักอยู่ในกรุงเคียฟ และจนถึงตอนนี้เขาปฏิเสธพูดคุยหารือในเรื่องอื่นๆ ยกเว้นแต่เรื่องเสริมความเข้มแข็งแก่ยูเครนในการสู้รบกับรัสเซีย แหล่งข่าวการทูตตะวันตก 2 คน ชี้แจงกับซีเอ็นเอ็น

ดังนั้น แหล่งข่าวเผยว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยุโรปจึงกำลังหารือถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการส่งสมาชิกรัฐบาลของเซเลนสกี 1 คน หรือมากกว่านั้นไปยังสถานที่ตั้งนอกประเทศแห่งหนึ่งเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ในกรณีที่เคียฟล่มสลายและเซเลนสกีไม่ต้องการหลบหนีออกมา หรือไม่สามารถเดินทางออกมาได้

ช่วงวันแรกๆ ของการสู้รบ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และยุโรปเชื่อว่าการย้าย เซเลนสกี ไปยังเมืองลวิวอาจเป็นเรื่องเหมาะสม เพราะว่ามันไม่ชัดเจนว่ารัสเซียจะเล็งเป้าหมายโจมตีทางตะวันตกของยูเครนหรือไม่ แต่ด้วยรัสเซียขยายปฏิบัติการจู่โจมอย่างน่าตื่นตะลึงในช่วงหลายวันที่ผ่านมา จึงไม่เป็นที่ชัดเจนว่ารัสเซียจะมีเป้าหมายยึดครองทุกตารางนิ้วของดินแดนยูเครนหรือไม่

ในด้านสถานการณ์ภาคสนามในยูเครน หน่วยงานเฝ้าระวังทางนิวเคลียร์ของสหประชาชาติในวันอาทิตย์ (6 มี.ค.) เปิดเผยว่ากองกำลังรัสเซียที่ยึดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริชเชียเมื่อหลายวันก่อน ตอนนี้ได้จัดวางเจ้าหน้าที่ดำเนินงานไฟฟ้าแห่งนี้ภายใต้การบังคับบัญชาของพวกเขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจำกัดการสื่อสารกับโลกภายนอก

ทบวงปรมาณูสากลระบุว่า พวกเขารู้สึกกังวลเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริชเชีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป

"ยูเครนรายงานว่าความเคลื่อนไหวใดๆ ของการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า ในนั้นรวมถึงมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการทางเทคนิคของหน่วยเตาปฏิกรณ์ 6 เตา จำเป็นต้องได้รับการอนุมัติล่วงหน้าจากผู้บังคับบัญชารัสเซีย" ทบวงปรมาณูสากลกล่าวในถ้อยแถลง

เจ้าหน้าที่ยูเครนบอกว่ากองกำลังรัสเซียเข้ายึดการควบคุมโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริชเชียในวันศุกร์ (4 มี.ค.) เผาศูนย์ฝึกที่อยู่ติดกัน ส่วนทางกระทรวงกลาโหมรัสเซียกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของพวกผู้ก่อวินาศกรรมชาวยูเครน และเรียกมันว่าเป็นการยั่วยุ

ไฟถูกดับลงอย่างรวดเร็วและไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับเตาปฏิกรณ์หรือมีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกมา แต่เหตุการณ์นี้ก่อความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่อาจเกิดผลลัพธ์หายนะ ในกรณีที่ความขัดแย้งก่อความเสียหายแก่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แห่งใดแห่งหนึ่งจากทั้งหมด 4 แห่งของยูเครน

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการทบวงปรมาณูสากล แสดงความกังวลต่อข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ยูเครน เกี่ยวกับกรณีที่ทหารรัสเซียกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาโปริชเชีย ให้อยู่ภายใต้คำบัญชาของพวกเขา

"เพื่อให้สามารถปฏิบัติการโรงไฟฟ้าได้อย่างปลอดภัย ฝ่ายบริการและเจ้าหน้าที่ต้องได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ อันสำคัญยิ่งของพวกเขา ในสภาพที่มั่นคงโดยปราศจากการแทรกแซง หรือแรงกดดันจากภายนอก" เขากล่าว


(ที่มา : ซีเอ็นเอ็น/รอยเตอร์)
https://mgronline.com/around/detail/9650000022367