'กอบศักดิ์' ชวนคิด!! สงครามค่าเงิน เกมสงครามคู่ขนาน แนวรบที่น่าติดตามจากสงคราม 'ยูเครน-รัสเซีย'

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สงครามค่าเงิน กับ รัสเซีย

อีกแนวรบที่น่าติดตาม จากสงครามยูเครน-รัสเซีย คือ สงครามค่าเงิน

เรียกว่าเป็น สมรภูมิ ที่ต่อสู้กันรุนแรงมากอีกสมรภูมิหนึ่ง

ซึ่งเป็นสนามรบที่จะมีนัยต่อไปอีกมาก เพราะค่าเงินที่สูงขึ้น หมายความว่า ต้นทุนของสินค้าต่างๆ ในรัสเซีย จะเพิ่มสูงขึ้น และจะมีนัยไปต่อถึงเงินเฟ้อที่ล่าสุดสูงถึง 8.73% ให้เพิ่มขึ้นได้อีก 7-10% สร้างความลำบากในการครองชีพให้กับคนรัสเซีย และบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองของรัสเซีย

ล่าสุด สู้กันมา 4 วัน ยังสู้กันไม่จบ

ตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นมา ค่าเงินวิ่งอยู่ระหว่าง 120 รูเบิล/ดอลลาร์ และ 97 รูเบิล/ดอลลาร์ หรือเหวี่ยงขึ้นลงประมาณ 15-20%

หมัดที่ออกกันมา ก็เรียกว่าไม่ธรรมดา

เริ่มจากการ Sanctions ปกติ ที่ทำให้ค่าเงินอ่อนจาก 70 รูเบิล/ดอลลาร์ เป็น 85-90 รูเบิลต่อดอลลาร์

ตามมาด้วยการประกาศ Freeze เงินสำรองของรัสเซียที่อยู่ในโลกตะวันตก เมื่อเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา 

ทำให้เงินสำรองรัสเซียที่สะสมไว้ตั้งแต่หลังการผนวกไครเมีย ที่เคยอยู่ที่ 3.5 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2015 เพิ่มเป็น 6.43 แสนล้านดอลลาร์ ในปัจจุบัน บางส่วนไม่สามารถนำออกมาสู้ศึกค่าเงินได้ 

ไม่น่าแปลกใจ หลังมาตรการดังกล่าว ค่าเงินรูเบิลทิ้งดิ่งจาก 85 รูเบิล/ดอลลาร์ไปสู่ระดับ 117 รูเบิล/ดอลลาร์ ทันที

และก็หมุนเวียน ขึ้นลงอยู่ระหว่าง 97-120 รูเบิล/ดอลลาร์

หลายคนถามว่า "ถ้าเงินสำรองถูกยึดแล้ว รัสเซียสู้อย่างไร"

คำตอบ "มาตรการ Capital Control" ในรูปแบบต่างๆ ที่ถูกทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
- ปิดตลาดหลักทรัพย์ ไม่ให้นักลงทุนขาย เงินก็ติดอยู่ในนั้น
- การประกาศห้ามไม่ให้นักลงทุนต่างประเทศ ขายสินทรัพย์ในรัสเซีย
- การบังคับให้ผู้ส่งออก ต้องเอาเงินตราต่างประเทศ 80% ที่ได้มา ออกมาขายในตลาด ไม่ให้เก็บไว้
- การออกค่า Commission 30% สำหรับการแลกเปลี่ยนเงิน
- ล่าสุด คือการที่กำลังจะจ่ายชำระคืนหนี้ไม่ได้ ซึ่งอาจจะต้องประกาศหยุดการชำระหนี้ 

ทั้งหมด เป็นมาตรการไม่ธรรมดาที่ปกติเราจะไม่ค่อยเห็นกัน ตามที่เขาเรียกว่า Extraordinary Times, Extraordinary Measures

ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยเป็น 20% ในช่วงที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วยด้วย เพราะเพิ่มต้นทุนในการเก็งกำไรค่าเงิน (ซึ่งเป็นมาตรการปกติของธนาคารกลางในการต่อสู้กับค่าเงินที่อ่อนยวบเช่นนี้) 

เรียกได้ว่า แนวรบค่าเงินนี้ คงต้องตามอย่างใกล้ชิด

แต่ถ้าจะให้ลองประเมินว่าแนวรบในสมรภูมินี้เป็นอย่างไร 

การที่รูเบิลอ่อนลงมาขนาดนี้ จาก 70 มาเป็น 110 รูเบิลต่อดอลลาร์ และการที่ธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยมาที่ 20% เป็นความเสียหายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ 

แม้ล่าสุดจะยืนอยู่ได้ตรงจุดนี้ แต่นัยที่ตามมาจะไม่ธรรมดา
- ต่อเงินเฟ้อ
- ต่อการครองชีพ 
- ต่อฐานะของบริษัท และธนาคาร (เหมือนปีต้มยำกุ้งที่ค่าเงินอ่อนไปมาก)

ดังนั้น คงต้องสรุปว่า ในแนวรบนี้ รัสเซียกำลังเพลี่ยงพล้ำ และจะส่งผลต่อแนวรบทั้งหมดต่อไป ครับ
#เรียนรู้เศรษฐกิจกับดรกอบ #สงครามเศรษฐกิจกับรัสเซีย


ที่มา : https://www.facebook.com/100057945673869/posts/384367160171470/