ตร.แจ้ง 2 ข้อหา ‘เค ร้อยล้าน’ คลั่งอีก วอน สังคมเห็นใจ เหตุเป็นผู้ป่วยโรคจิตฯ

บช.น.เผย สน.ปทุมวัน ปรับ 2 ข้อหา “เค ร้อยล้าน” คลั่งอีกแล้ว ปาขวดในห้างย่านปทุมวัน พบก่อเหตุที่สนามบินด้วย ชี้ เป็นความผิดลหุโทษ วอน ครอบครัวดูแลใกล้ชิด ปล่อยปละละเลยมีความผิด วอนสังคมอย่าดูหมิ่น อยากให้เห็นใจ

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น.กล่าวถึงกรณี “เค ร้อยล้าน” ชายคลั่งอาละวาดปาขวดแก้วในห้างย่านปทุมวัน เมื่อวานนี้ (13 ก.พ.) ว่า จากการตรวจสอบเป็นคนเดียวกับที่เคยก่อเหตุทำร้ายตนเองและปล่อยงู ที่แยกราชประสงค์ เมื่อเดือน เม.ย. 62 และกลางถนนราชดำริ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา พื้นที่ สน.ลุมพินี ส่วนกรณีล่าสุด พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เปรียบเทียบปรับข้อหา “ก่อความเดือดร้อนรำคาญฯ, ทำให้เกิดเสียง หรือกระทำความอื้ออึงฯ” ยังพบก่อเหตุ ที่สนามบินสุวรรณภูมิ พื้นที่ บช.ภ.1

ตำรวจจึงนำตัวส่งรักษา รพ.สมเด็จเจ้าพระยา แพทย์ลงความเห็นว่า เป็นโรคจิตอารมณ์แปรปรวน มีการรักษาตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.- 7 พ.ค. 62 รวมถึงรอผลตรวจหาสารเสพติด แอลกอฮอล์ และสภาพจิตจาก รพ.ตำรวจ เมื่อเป็นผู้ป่วยภายใน รพ.จึงเห็นว่า ควรรักษาเหมือนผู้ป่วยภายนอกมารับยาประจำ ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ไปรับยาจนถึงวันก่อเหตุ 1 ก.พ. ความผิดที่เกิดขึ้นเป็นลหุโทษ อาทิ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบก โทษเปรียบเทียบปรับ จบในชั้นพนักงานสอบสวนไม่ต้องฟ้องศาล ส่วนความผิดซ้ำๆ สามารถส่งให้ศาลปรับได้หรือไม่ เนื่องจากคดีเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนปรับและจบในชั้นสอบสวน

กรณีสังคมมองว่าเหตุใดถึงปล่อยปละละเลยทำผิดซ้ำ อาจก่อเหตุอันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สินได้นั้น การปฏิบัติของตำรวจอ้างอิงถึงผลของแพทย์เป็นหลัก ยังไม่พบผู้ต้องหาก่อความรุนแรงให้เกิดอันตรายกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ควรต้องดูแลกันหลายส่วน 1.) คนในครอบครัว ผู้ดูแล หากปล่อยปละละเลยให้บุคคลวิกลจริตไปเที่ยวตามลำพังจะมีความผิด 2.) ตำรวจ กรณีก่อเหตุหลายครั้งจะประสานกับหน่วยงานรับผิดชอบ นำข้อมูลการก่อเหตุประสาน รพ.เพื่อมีมาตรการบังคับรักษาเป็นผู้ป่วยภายใน อยากประชาสัมพันธ์ให้ญาติ และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ กรณีมีผู้ป่วยคนในครอบครัวต้องให้การดูแลอย่างใกล้ชิดอย่าให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ผู้ที่ป่วยทางจิต หรือประสาท จะแบ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่แสดงอาการ และไม่แสดงอาการ กรณีดังกล่าวคือผู้ป่วยที่แสดงอาการ และจะแบ่งเป็นแสดงอาการรุนแรง และไม่รุนแรง ที่ผ่านมา ในพื้นที่ บช.น.เป็นในเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนน ดูผิวเผินอาจบันดาลโทสะ แต่จริงแล้วเป็นผู้ป่วยและมีบัตรประจำตัวเข้ารับการรักษา ฝากถึงสังคมว่าอย่าไปดูถูกดูหมิ่นอยากให้เห็นใจว่า บุคคลเหล่านี้เมื่อรู้ตัวว่าเป็นผู้ป่วยแล้วผู้ที่มีหน้าที่ดูแลต้องเอาใจใส่ กรมสุขภาพจิต ทำงานอย่างหนักอยู่แล้วออกคู่มือให้ปฏิบัติตาม มีสายด่วนให้การปรึกษา

“แนวทางการป้องกันเหตุของตำรวจคงทำได้ในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ให้ทราบว่าคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรู้เห็นในเรื่องนี้ ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษเพื่อเป็นการป้องกันเหตุซ้ำ” รองโฆษก ตร.กล่าว


ที่มา : https://mgronline.com/crime/detail/9650000015182