79 ปี สิ้น ‘เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี’ ประธานสภาฯ คนแรกของไทย และผู้วางรากฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน-อาชีวศึกษา 

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2419 ที่บ้านหลังศาลหัวเม็ด ตำบลสะพานหัน กรุงเทพฯ นามเดิม สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นบุตรคนที่ 18 ในจำนวนพี่น้อง 32 คน ของพระยาไชยสุรินทร์ (เจียม เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงเกษตรและพระคลังในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่เป็นบุตรคนโตของมารดา คือคุณหญิงอยู่ เมื่ออายุได้ 8 ปี บิดาถึงแก่กรรม ฐานะครอบครัวตกต่ำลง มารดาจึงหารายได้ทางเย็บปักถักร้อย

เมื่ออายุ 12 ปี ได้เรียนหนังสือด้วยวิธีต่อหนังสือที่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุข สอบได้ประโยคหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2431 แล้วเรียนที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบสอบไล่ได้ประโยคสอง ต่อมาสอบไล่ได้ชั้น 5 ภาษาอังกฤษตามหลักสูตรหลวง ปีพ.ศ. 2432 เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ปีพ.ศ. 2435 จนได้รับประกาศนียบัตรครูสอบไล่ได้ที่ 1 ของผู้สำเร็จวิชาครูรุ่นแรก ได้รับพระราชทานรางวัลเมื่อ พ.ศ. 2437 ทางกระทรวงธรรมการได้คัดเลือกส่งไปศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศอังกฤษ จนได้รับรางวัลประกาศนียบัตรวิชาครูของอังกฤษ จากโรงเรียนฝึกหัดครูเบอโรโรค ที่ตำบลไวสลเวิฟ ใกล้กับกรุงลอนดอน เมื่อพ.ศ. 2441

กระทั่งปีพ.ศ. 2435 ได้เข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการเป็นนักเรียนสอบในโรงเรียนตัวอย่าง จนได้เป็นครูผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครู เมื่อพ.ศ. 2437 เมื่อกลับมาจากประเทศอังกฤษก็ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการเมื่อ พ.ศ. 2459 โดยได้บรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้ายเป็น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเมื่อ พ.ศ. 2460 วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศไทย รวมทั้งได้เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ

นอกจากนี้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้ประกอบกิจการทางการศึกษาอันเป็นคุณูปการไว้แก่ประเทศไว้มากมาย โดยเฉพาะในการวางรากฐานอย่างสมัยใหม่ เริ่มตั้งแต่การเป็นครู ผู้ตรวจการศึกษา เป็นเจ้ากรมราชบัณฑิต เจ้ากรมตรวจ ปลัดทูลฉลองจนถึงเสนาบดี โดยเริ่มนำเอาความรู้แผนใหม่เข้ามาในวงการครู เริ่มพัฒนาด้านพุทธิศึกษาอย่างจริงจัง เขียนตำรา เริ่มตั้งแต่ด้านสุขาภิบาลและสุขศึกษาสำหรับครอบครัว 

รวมทั้งเน้นด้านปลูกฝังธรรมจรรยาอย่างแท้จริง อบรมสั่งสอนให้คนมีคุณธรรมและจรรยามรรยาท จัดทำแบบสอน-อ่าน-เขียนด้านธรรมจริยาขึ้นใช้ในโรงเรียนทั่วประเทศ นำพลศึกษาและการกีฬาเข้ามาในโรงเรียนเพื่อสร้างลักษณะนิสัยให้เยาวชนรู้จักรู้แพ้ รู้ชนะ รู้จักอภัยซึ่งกันและกัน

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้จัดให้มีการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาทั่วถึงกันโดยท่านเชื่อว่า เมื่อให้มวลชนได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางแล้ว บุคคลที่มีความสามารถก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็นเอง ได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศรวมทั้งโรงเรียนประชาบาลเพื่อรองรับการจัดการศึกษาภาคบังคับ มีการเริ่มงานด้านหัตถศึกษา คือ นำเอาวิชาอาชีพต่างๆ เข้ามาสอนในโรงเรียน เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รับทั้งด้านวิชาความรู้เพื่อไปรับราชการ และทางด้านวิชาชีพสำหรับผู้ที่ต้องการนำไปประกอบอาชีพทั่วไป

นอกจากนี้ยังมีผลงานในหนังสือพิมพ์รายเดือน “ลักวิทยา” และ “ทวีปัญญา” อันมีความสำคัญต่อวรรณกรรมไทยปัจจุบัน เช่น เรื่องสั้น “คุณย่าเพิ้ง” ได้รับยกย่องว่าเป็นเรื่องสั้นไทยยุคบุกเบิกที่ดีที่สุด และเมื่อพ้นราชการออกมาแล้วก็ยังได้เขียนบทประพันธ์ต่างๆ ไว้มากมาย นามปากกาที่รู้จักกันทั่วไปคือ “ครูเทพ” รวมทั้งยังเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้บุกเบิกร้อยกรองไทยปัจจุบัน  โดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ด้วยโรคหัวใจวาย รวมอายุได้ 67 ปี


ที่มา : http://www.praphansarn.com/home/detail_author_th/136


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
YouTube > https://www.youtube.com/c/THESTATESTIMES