รู้จัก ทูตมวยไทย!! ‘ครูดิน วิทวัส’ ผู้พามวยไทยไปทั่วโลก 7 ปี 38 ประเทศ ลุยสอนตั้งแต่สลัมยันราชวงศ์

เปิดประสบการณ์การสอนมวยไทยทั่วโลกกับ “ครูดิน วิทวัส” การทำงานสุดท้าทายในต่างแดนและความหวัง อนาคตของมวยไทย 

วิทวัส ค้าสม หรือที่รู้จักกันในนาม ครูดิน ครูมวยไทยผู้ก่อตั้งค่ายลานนาไฟท์ติ้งมวยไทย ค่ายมวยชื่อดังแห่ง จ.พะเยา ได้มีโอกาสร่วมงานกับกระทรวงการต่างประเทศ ในการเผยแพร่หนึ่งในเอกลักษณ์ประจำชาติ นั่นก็คือ “มวยไทย”

ครูดินได้แบ่งปันประสบการณ์ ในการเดินทางนำมวยไทยไปให้คนทั่วทุกมุมโลกได้รู้จัก ทั้งสถานที่ทั่วไปอย่าง โรงละครที่ไต้หวัน หรือจะเป็นทำงานในสลัมยาเสพติดในบราซิล บุกยิมใต้ดินของมาเฟียรัสเซีย ไปจนถึงได้มีโอกาสสอนมวยไทยแก่สมาชิกราชวงศ์จอร์แดน

โดยจุดเริ่มต้นของครูดินเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า “ในปี 2555 กระทรวงการต่างประเทศ เขาทำโครงการ roadshow มวยไทย ก่อนหน้านั้น เขาทำโครงการวัฒนธรรมไทย เป็นอาหารไทย นาฏศิลป์ไทย แต่ปีนั้นเขาทำมวยไทยพอดี ปีแรกที่เราไปบางคนก็ไม่รู้จักมวยไทยเลยนะ บางคนรู้จักในนามของ Thai boxing แต่เราพยายามจะบอกทุกคนว่า มวยไทยไม่ใช่ Thai boxing เราอยากให้ใช้ชื่อเฉพาะเหมือนเทควันโด เราไม่ได้เรียกว่า Korean boxing กังฟูเราก็ใช้ชื่อกังฟู ไม่ได้ใช้ชื่อว่า Chinese boxing”

ในช่วงแรกเขาก็ถามจะทำยังดี เริ่มปรึกษาว่าไปโซนนี้ดีมั้ย ผมจะรู้ตัวก่อนประมาณ 1-2 เดือน ให้ส่งพาสปอร์ตไปทำวีซ่า ผมก็บอกว่า เราน่าจะมีการสอนสำหรับคนที่ไม่รู้จักมวย เพราะมองว่าจะไปเผยแพร่มวย ถ้าเราไปเฉพาะคนที่เขาชอบมวยอยู่แล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์มากเพราะคนกลุ่มนี้ยังไงเขาก็ต้องเรียนมวย เราควรจะมีการจัดงานที่ไปหาคนที่ไม่ชอบมวย ไม่รู้จักมวย เราทำให้คนกลุ่มนี้มาสนใจมวยไทยด้วย 

หลังจากที่เราสอนมวยเสร็จ เป็นห้าง หรือสวนสาธารณะ เราก็จะเชิญคนดูขึ้นมาบนเวที หรือถ้าคนเยอะๆ เราก็อาจจะทำด้านล่างเวที ให้ครูมวยของเราช่วยกันสอนและผมก็นำ บางทีก็เป็น 100-200 คนครับ ก็เป็นอีกกลุ่มนึง กลุ่มที่ไม่รู้จักมวยไทย ก็เพิ่มเข้ามา”

สำหรับบุคคลที่มาชมการแสดงและเรียนรู้มวยไทยกับทีมของครูดิน เรียกได้ว่ามีทุกเพศทุกวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้พิการ ทหาร และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งในการทำงานแต่ละครั้ง ครูดินต้องทำการบ้านเกี่ยวกับประเทศนั้นๆ อย่างหนัก

และประสบการณ์การสอนที่ครูดินจำได้ไม่ลืมนั่นคือ การเผยแพร่วัฒนธรรมมวยไทยแก่บุคคลระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นคนสนิทของชีคแห่งการ์ตา รวมไปถึงเจ้าหญิงของจอร์แดน ครูดินเล่าให้ฟังว่า “ตอนปี 59 เขาก็บอกว่าเราไปตะวันออกกลางบ้างมั้ย สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญอีกอย่างคือ ท่านทูตและสถานทูตไหนที่ตอบรับโครงการที่เขาเสนอไป ปีนั้นกาตาร์ คูเวต โอมาน เขาก็ขานรับ ก็ไปที่กาตาร์ก่อน เขาบอกว่าที่นั่นจะมีการขอลงนวม จะมีแขก VIP ของเขาอยากที่จะต่อยมวย ผมก็เตรียมไป”

“ปรากฏว่า คนที่เขาอยากต่อยเป็นคนสนิทของชีค น้ำหนักเขาตรงกับผมพอดี ตกลงเอาครูดินนี่แหละต่อย พอเขารู้ว่าเป็นผม เขาก็ไม่ต่อย เขาบอกว่าไม่สบาย แล้วก็ส่งครูมวยที่เขาจ้างมาจากอินโดฯ มาต่อยกับผม ที่นี้ก็ไปที่คูเวต VIP เหมือนกัน เป็นพวกเศรษฐีน้ำมัน หลังจากนั้นเราเริ่มรู้จักพวกที่เป็นตะวันออกกลาง ต่อไปเป็นปี 60 โครงการนี้เขาไปที่อิสราเอล และจอร์แดน เขามีโครงการก็เชิญเจ้าหญิงมา เขาฝึกมวยอยู่แล้ว พอเราไปเขาก็มาร่วม แต่เขาก็เป็นกันเองมาก ตรงนี้เราก็ต้องคุยกับทีมงานว่า พอเราไปเจอเจ้าหญิง ต้องสุภาพ ต้องนุ่มนวล ต้องถนอมเขาแล้วเขาก็คุยกับทางฝ่ายไทยเรียบร้อย หลังจากนั้น ทางฝ่ายไทยก็ได้ไปทานข้าว ไปร่วมอะไรในวังเขาเรียบร้อยครับ”

ตลอดระยะเวลา 7 ปี ในการทำงานและเดินทางไปรอบโลก มีเรื่องราวเกิดขึ้นกับครูดินมากมาย “ไปมาทั่วโลกเลย 7 ปี ประมาณ 38 ประเทศ ไม่คิดว่าจะได้ไปก็ได้ไป เบสิกเลย 1 ทริปเล็กๆ 10-15 วัน ถ้าไปหลายประเทศ อาจจะประเทศละ 3 วัน บางประเทศต้องไป 2-3 เมืองก็มี ผมไปตุรกีมีเวลา 5 วัน ผมไป 4 เมือง ไปถึงเมืองนี้สอนเสร็จ เย็นเก็บของไปอีกเมืองไม่ได้เข้าโรงแรมเลยก็มี เก็บของ เปลี่ยน เหนื่อยมากแต่ก็สนุก ลำบากนิดนึงแต่มันคือประสบการณ์”

นอกจากประสบการณ์การทำงานกับกระทรวงการต่างประเทศแล้ว มีสิ่งใดอีกที่ได้จากการเดินทางทั่วโลก ครูดินกล่าวว่า การได้เรียนรู้ระบบกีฬาและวัฒนธรรมของคนแต่ละชนชาติ คือความประทับใจที่เกิดขึ้นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา “หลายคนถามว่าประเทศไหนที่ประทับใจที่สุด ถ้ารวมกับประเทศที่เรานั่งรถผ่านก็ 40 กว่าประเทศ มันก็มีความประทับใจแตกต่างกัน มันได้เยอะมาก ในแง่กีฬาเราได้เรียนรู้ระบบของเขา”

“อย่างที่ตุรกี เขาจะมีระบบเยาวชนที่ดีมาก ที่ต่างประเทศเขาจะมีไม่มีองค์กรเยอะเหมือนเรา เขาเป็นหนึ่งเดียว สมมติผมไปเมืองนี้ เขาจะไปเคลียร์ทางองค์กรนี้ที่เมืองนั้นให้เตรียมของไว้ให้เรา ให้ดูแลเรา พอไปถึงปุ๊บก็ง่ายเลย ที่ตุรกีจะมีของที่ระลึกตลอด ตอนนี้มวยของตุรกีก็เก่ง ส่วนในแง่ของวัฒนธรรม เราได้เห็นว่าโลกนี้มันมีความหลากหลายมาก เราไปเราเห็นวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน” 

“ผมเป็นคนที่มีความรู้สึกว่า ทุกคนมีความเป็นคนเหมือนกัน ผมปฏิบัติกับทุกคนเหมือนกันหมด ไม่มองว่าคนนี้เด็ก คนนี้ผู้ใหญ่ คนนี้เชื้อชาติอะไร ผมจะให้เกียรติทุกคน เราก็เลยเข้าถึงคนได้ง่าย บางทีผมสอนฝรั่ง เราไปทักลูกศิษย์ที่เป็นผู้หญิงว่าวันนี้ทำไมอ้วนจัง เขาโกรธ ฝรั่งเขาจะไม่ชอบให้พูดว่า ทำไมคุณอ้วน ทำไมคุณผอม ทำไมคุณหน้าเหมือนคนนี้ สมมติผมบอกว่าคุณหล่อเหมือนณเดชน์ ถ้าเป็นคนไทยดีใจ แต่ถ้าเป็นฝรั่งบางคนเขาไม่ชอบ เพราะเขารู้สึกว่าเขาก็ดีในแบบของเขา เป็นสิ่งที่ผมได้รู้เลยว่า คนเรามีวัฒนธรรมแตกต่างกันมาก เราจะปฏิบัติแบบนี้กับทุกคนไม่ได้ ต้องศึกษาเขาก่อนว่าเขาเป็นยังไง”

ความสวยงามของมวยไทยอีกอย่างหนึ่งคือ การไหว้ครู เป็นสิ่งที่สามารถดึงดูดสายตาชาวต่างชาติได้ตั้งแต่ต้น “ตั้งแต่โบราณสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือก่อนจะสู้ต้องไหว้ครูฝรั่งรอจนหลับเลย แต่ตอนหลังฝรั่งเขาบอกว่า คนไหนที่เก่งต้องไหว้ครูสวย ตอนนี้มันมีการแข่งไหว้ครูชิงแชมป์โลก ลูกผมก็ได้แชมป์โลกมา ตอนนี้แข่งออนไลน์ ทีมผมได้ทั้งหมด 9 เหรียญทอง ฝรั่งโกรธเลย (หัวเราะ)”

มวยไทยมันเป็นอะไรที่แฝงไว้หลายเรื่องนะ ความสวยงาม ความยืดหยุ่น ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ที่ทำให้ฝรั่งเขาหลงใหล ทั้งจิตใจนักมวยไทย บางทีจะแพ้อยู่แล้ว ไม่ยอมแพ้ ต่อยกันแทบเป็นแทบตาย สุดท้ายกอดกันเฉยเลย” 

ปัจจุบันมวยไทยนั้นได้รับความนิยมในต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้ครูมวยชาวไทยได้เติบโต แต่ขณะเดียวกันก็มีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อย ที่เลือกเรียนมวยไทยเพื่อนำไปประยุกต์และเผยแพร่ยังประเทศของตน

“อยากให้คนทั่วไปหันมาสนใจมวยไทย แต่ไม่ได้หมายความว่าคนไทยต้องต่อยมวยเป็นหมด อาจจะสามารถพูดได้ว่านักมวยไทยเดี๋ยวนี้มีใครบ้าง มวยไทยเป็นยังไงบ้าง แต่จริงๆ ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นต้องฝากถึงหน่วยงานของรัฐบาลและสื่อ อยากให้ช่วยนำเสนอมวยไทย” 


ขอบคุณบทสัมภาษณ์จาก MGR Online 


แหล่งที่มา : https://mgronline.com/live/detail/9650000006636
กระทรวงการต่างประเทศ 
Facebook : Din Wittawat
https://thestudytimes.co/post/2022012903