ตรุษจีนซึมคนใช้จ่ายวูบหนักสุดรอบ 11 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2565 พบว่า บรรยากาศการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคัก เป็นผลมาจากประชาชนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเนื่องจากสินค้าราคาแพง รวมถึงรายได้ที่ลดลง ทำให้จำกัดในเรื่องของการซื้อสินค้าไหว้เจ้า การเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการใช้จ่ายอื่นๆ ลดลง โดยพบว่า ปีนี้มีเงินสะพัดที่ 39,627 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าเงินสะพัดที่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี โดยติดลบจากตรุษจีนปีก่อน 11.82% ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 

“เงินสะพัดที่ลดลงเหลือแค่ 39,627 ล้านบาท ส่งผลต่อการขยายตัวของจีดีพีประมาณ 0.05% แต่ในช่วงเดียวกันรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง ก็พอจะช่วยทดแทนไปได้ แต่การลดวงเงินคนละครึ่งเหลือคนละ 1,200 บาท จากเดิม 1,500 บาท ทำให้เม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหายไป 1.8 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจหายไป 0.15-0.2%”

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้คลี่คลายได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดความเชื่อมั่น ก็เชื่อว่าระบบเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ได้แก่ การออกมาตรการ Test and Go การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท และการเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) เพื่อเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ โดยการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนไม่มีผลกับการใช้จ่ายและการเดินทางของประชาชนมากนักเนื่องจากประชาชนมีการปรับตัว และรู้จักระมัดระวังในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้นแล้ว ไม่ได้ส่งผลกระทบกับพฤติกรรมของประชาชนมากเหมือนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเพิ่งเริ่มรู้จักโควิด-19