‘จุรินทร์’ ชู ‘เกษตรผลิต - พาณิชย์ขาย’ ดันส่งออกผลไม้ โกยเงินแสนล้านเข้าปท.

แม้จะมีปัญหาอุปสรรคในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และมีปัญหาจากการที่ประเทศจีนปิดด่านบางช่วง แต่ในปี 2564 ที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้ไทยยังคงเติบโตได้ถึง 86% (ม.ค.-ต.ค.) โดยมีจีนเป็นตลาดที่สำคัญ เพราะมีสัดส่วนสูงถึง 85% 

ดังนั้น หากจีนปิดด่าน จะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกผลไม้ไทยทันที แต่อย่างไรก็ดี จากความร่วมมือกันอย่างลงตัว ระหว่างกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวเรือใหญ่ ควงคู่ผสานกับ ‘เฉลิมชัย ศรีอ่อน’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมขับเคลื่อนคอนเซปต์ ‘เกษตรผลิต - พาณิชย์ขาย’ ได้อย่างกลมเกลียว

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีของรัฐบาลชุดนี้ จะเห็นว่าทั้งสองกระทรวง ได้บูรณาการแก้ปัญหาส่งออกผลไม้เฉพาะหน้าร่วมกันหลายครั้ง โดยเฉพาะปัญหาจากประเทศจีนปิดด่าน เพื่อคุมการระบาดโควิด-19 โดยมีด่านสำคัญ คือ ด่านโหย่วอี้กวนกับด่านโม่ฮาน ซึ่งโม่ฮานเป็นด่านใหญ่ เป็นด่านสำรองในการช่วยเวลาเกิดปัญหาที่ด่านโหย่วอี้กวน ให้สามารถมีช่องทางส่งผลไม้เข้าจีนได้เพิ่มขึ้น

ขณะที่ ส่วนหนึ่งนั้น มาจากการป้องกันการปนเปื้อนโควิด-19 ในการส่งออกผลไม้ไปจีน ที่ถือเป็นมาตรการสำคัญ ที่ทำให้จีนยอมรับให้นำเข้าผลไม้จากไทยได้อย่างไม่ติดขัด ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกผลไม้ไทย เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะนโยบายซีโร่โควิด-19 ที่เข้มงวด ทำให้สินค้าไทยได้รับความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 ยังคงเป็นปีที่ท้าทายสำหรับการส่งออกของไทย เพราะประเทศคู่ค้าหลายประเทศยังคงเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่า สินค้าไทยโดยเฉพาะผลไม้ยังคงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก 

ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้เริ่มออกมาตรการดูแลตลาดผลไม้ปี 2565 ล่วงหน้าไปก่อนบ้างแล้ว ก่อนที่ผลไม้จะทยอยออกผลผลิต เป็นต้นว่า การเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางธุรกิจในระบบออนไลน์หรือที่เรียกว่า OBM มุ่งเน้นตลาดใหม่ เช่น อินเดียและรัสเซีย เป็นต้น

ส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศในรูปแบบ THAIFEX - Anuga Asia พร้อมกับจัดงานส่งเสริมการบริโภคผลไม้ระดับนานาชาติ ช่วงเดือนพฤษภาคม 65, เร่งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทยไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็น 5 ภาษา เพื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย และการจัดอบรมให้ความรู้เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ในเรื่องของการค้าออนไลน์เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคและจะเพิ่มเติมหลักสูตรการส่งออกเบื้องต้นให้ด้วย ตั้งเป้าอบรมเกษตรกรให้ได้อย่างน้อย 1,000 ราย

มาตรการเหล่านี้ เป็นเพียงบางส่วนที่กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดเตรียมไว้สำหรับการส่งออกผลไม้ในปี 2565 เพื่อรองรับปริมาณผลไม้ ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตราว 3.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8%

ปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นดังกล่าว จำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก เพราะหมายถึงซัพพลายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ซึ่งมาตรการเชิงรุกจากกระทรวงพาณิชย์นี่เอง ที่ทำให้ส่งออกผลไม้ประสบความสำเร็จมากในช่วงปี 2564 จากตัวเลข 8 เดือนแรก มกราคมถึงสิงหาคม 2564 สามารถส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศได้ถึง 169,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% เฉพาะทุเรียนส่งออกได้ 98,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% มังคุด 16,703 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% และลำไย 10,392 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% และหากสามารถทำได้เช่นปีที่ผ่านมา เชื่อว่า ผลไม้ไทยจะนำเงินเข้าประเทศได้ไม่น้อยกว่าในปีที่ผ่านมา ที่ประเมินว่าอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า จะยังไม่ฟื้นตัว ทั้งการบริโภคภายในประเทศ และนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับมาเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ภาคการส่งออก ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรของไทย จึงเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้คลี่คลาย ให้เศรษฐกิจไทยกลับมาผงาดได้อีกครั้ง