ย้อนอดีต พิธีลงนามในสัญญาร่วมวงศ์ไพบูลย์ ระหว่าง ‘ประเทศไทยและญี่ปุ่น’

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งพิเศษ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้มีการพิจารณาเรื่อง การทำกติกาสัญญาทางทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าทางญี่ปุ่นเห็นว่า กิจการทหารของเขาได้คืบหน้าไปมาก แต่ทางไทยยังไม่มีอะไรผูกพันกับเขาเลย เหมือนมีรากฐานอยู่บนทราย ดังนั้นทางญี่ปุ่นจึงขอให้ไทย เลือกเอาทาง military co - operation คือการร่วมมือทางทหารของญี่ปุ่น

โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และได้ประมวลสถานการณ์ ที่ได้พัฒนาไปตามลำดับ กล่าวคือ คาดว่าอังกฤษจะประกาศสงครามกับไทยไม่เกิน 2 อาทิตย์ ซึ่งเวลานั้นเครื่องบินอังกฤษได้มาทิ้งระเบิดที่หาดใหญ่เสียหายมาก และทหารอังกฤษสองพันคน ได้เข้ามาที่แม่สอด กำลังเผชิญหน้ากับตำรวจอยู่ 

จนในที่สุดที่ประชุมได้ตกลงใจ ให้ดำเนินการทหารรวมกันกับญี่ปุ่น จากนั้นนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกจากที่ประชุม เพื่อพบทูตญี่ปุ่นซึ่งมาที่ทำเนียบวังสวนกุหลาบ และได้ลงนามใน กติกาสัญญาทางทหารระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยลงนามร่วมกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2484 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ลงนามใน หลักการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยมี นายพลโท อีดา แม่ทัพกองทัพที่ 15 ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกญี่ปุ่นในประเทศไทย และนายพลเรือตรี ชาดอง ทูตทหารเรือญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ในฐานะผู้แทนจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น ลงนามในฐานะผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น

โดยหลักการร่วมยุทธระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีดังนี้

1.) กองทัพญี่ปุ่น ณ ประเทศไทย และกองทัพไทยจะทำการร่วมยุทธต่อกองทัพข้าศึกในพม่า 
2.) ก่อนอื่น กองทัพไทยจะยึดชายแดนไทยพม่าให้มั่นคง พร้อมกับทำการรักษาฝั่งทะเล ทิศตะวันตกของประเทศทางภาคใต้ เพื่อป้องกันการชุมพลของกองทัพไทย - ญี่ปุ่น ในระหว่างนี้ กองทัพไทยจะช่วยถนนสายระแหง - แม่สอด - มิยาวดี (เมียวดี) และสายกาญจนบุรี - บ้องตี้ ทั้งนี้กองทัพญี่ปุ่นจะเข้าร่วมด้วย 
3.) กองทัพญี่ปุ่น ณ ประเทศไทย มีความหมายสำคัญที่จะทำการยุทธในภูมิภาคทางทิศใต้ ของแนวระแหง - แม่สอด - มิยวดี (รัฐฉานของพม่า) แนวนี้อยู่ในเขตด้านตรงไปย่างกุ้ง กองทัพไทยนั้นมีความมุ่งหมายสำคัญที่จะทำการยุทธในภูมิภาค ทางทิศเหนือของแนวที่กล่าวแล้ว มุ่งตรงไปเชียงตุงและมัณฑเลย์ 
4.) กองทัพอากาศไทย และญี่ปุ่น ต่างฝ่ายต่างทำการยุทธในด้านของตน ถ้ามีความจำเป็น กองทัพอากาศญี่ปุ่น จะเข้าร่วมกำลังกับกองทัพอากาศของไทยด้วย 
5.) ราชนาวีแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ครองน่านน้ำไทย ประมาณตั้งแต่เหนือแนวสัตหีบ - หัวหิน ขึ้นไป

หลังจากนั้นในอีก 10 วันถัดมาในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ได้มีการลงนามใน กติกาสัญญาไมตรีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น มีอยู่ 5 ข้อด้วยกัน ดังนี้

1.) ประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย สถาปนาสัมพันธไมตรีต่อกันและกัน ตามมูลฐานที่ต่างฝ่ายต่างเคารพเอกราชและอธิปไตยแห่งกันและกัน 
2.) ในกรณีที่ประเทศญี่ปุ่นหรือประเทศไทย อยู่ในการขัดกันทางอาวุธกับประเทศภายนอก จะเป็นประเทศเดียวหรือหลายประเทศก็ตาม ประเทศไทยหรือประเทศญี่ปุ่น จะเข้าข้างภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง ในฐานที่เป็นพันธมิตรทันที และจะให้ความช่วยเหลือแก่ภาคีนั้นด้วยบรรดาปัจจัยของตน การเศรษฐกิจ และทหาร 
3.) รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิบัติตามข้อ 2 จะได้กำหนดด้วยความตกลงร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจแห่งประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทย 
4.) ในกรณีสงครามซึ่งกระทำร่วมกัน ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยรับรองว่าจะไม่ทำสัญญาสงบศึก หรือสันติภาพ นอกจากจะได้ทำความตกลงร่วมกันโดยบริบูรณ์ 
5.) กติกาสัญญานี้จะได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันลงนามเป็นต้นไป กติกาสัญญาจะมีกำหนดอายุสิบปี ภาคีทั้งสองฝ่ายจะได้ปรึกษาหารือกัน ในเรื่องการต่ออายุกติกาสัญญานี้ในเวลาอันควร ก่อนสิ้นกำหนดอายุสัญญาดังกล่าวแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2485 ได้มีการลงนามร่วมกันใน ข้อตกลงในกิจที่เกี่ยวกับการยุทธร่วมกัน ระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ระหว่าง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กับ พลโท อีดา แม่ทัพกองทัพที่ 15 ญี่ปุ่น ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกญี่ปุ่นในประเทศไทย และพลเรือตรี ชาคอง ทูตทหารเรือญี่ปุ่น ในฐานะผู้แทนจักรพรรดินาวีญี่ปุ่น


ที่มา : https://www.baanjomyut.com/library_4/war_in_eastern_asia/10.html


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
👉 https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32