‘วันชาสากล’ วันที่เกษตรกรผู้ปลูกชา ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการค้าชา และเป็นวันแห่งเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั่วโลก!! 

วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีเป็น “วันชาสากล” (International Tea Day) ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยจุดเริ่มต้นของวันชาสากลมาจากเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ หลายกลุ่มในเบงกอลตะวันตกและหลายรัฐทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิและความชอบธรรมในการค้าชาของตนเอง

ในช่วงนั้นแม้ชาจะเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่อุตสาหกรรมค้าชาในประเทศอินเดียกลับมีความอ่อนแอและบริหารจัดการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ ในหลายพื้นที่ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปลูก ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้น ได้ผลิตผลเพิ่มมากขึ้น และชาที่ได้ก็มีคุณภาพดี

แต่อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเหล่านี้กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขาย พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคา จนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง จนกระทั่งองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดีย (CEC-Centre for Communication and Education) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พวกเขาได้ร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ค้าชากลุ่มย่อย ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมในการค้าชาและทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ชาได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพนับตั้งแต่นั้น และได้มีการจัดตั้งให้วันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีคือวันชาสากล เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชาและตระหนักถึงความสำคัญของเหล่าเกษตรกรตัวเล็ก ๆ ผู้ปลูกพืชซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่า

ทั้งนี้ ชา ถือเป็นเครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักการปลูกและบริโภคชา และเมื่อเวลาผ่านไปชาได้ถูกเผยแพร่ไปปลูกยังที่ต่าง ๆ จนกลายเป็นที่นิยม การดื่มชาถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในหลายชาติทั้ง อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย


ที่มา : https://www.tnnthailand.com/news/social/98787/


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
👉 https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32