คมนาคม เตรียมมาตรการช่วยฟื้นอุตสาหกรรมการบิน เฟส 4

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาอุตสาหกรรมการบินของไทย ประจำปี64 ว่า ขณะนี้ คณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กบร.) และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้แก่ กรมท่าอากาศยาน ,บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท., บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย ( บวท.) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) กำลังพิจารณามาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมการบินระยะที่ 4 เพื่อช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินในช่วงปี 65-68 ซึ่งคาดว่าเร็ว ๆ นี้ จะได้ข้อสรุป

ทั้งนี้ได้มอบนโยบายให้กรมท่าอากาศยาน ร่วมกับกรมการค้าภายใน ในการนำสินค้าทางการเกษตรมาขายและให้ประชาชนสามารถขนขึ้นเครื่องได้ ,ให้กรมท่าอากาศยาน จัดตั้งศูนย์จำหน่ายและกระจายสินค้าโอทอปในทุกสนามบิน นอกจากนั้นให้นโยบายกรมท่าอากาศยาน และ ทอท. ในการรับโอนย้ายสนามบินที่มีศักยภาพของ กรมท่าอากาศยาน เช่น สนามบินกระบี่ สนามบินอุดรธานี และสนามบินบุรีรัมย์ มาอยู่ในความรับผิดชอบ ทอท.  

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 85,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 7.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และสามารถสร้างการจ้างงานในระบบอุตสาหกรรมการบินโดยรวมได้กว่า 700,000 ตำแหน่ง ขณะที่อุตสาหกรรมการบินโดยรวมในประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ที่มีเครือข่ายการบินครอบคลุมเชื่อมโยงไปทั่วโลก และในประเทศไทยมีสนามบินภูมิภาคกว่า 39 สนามบิน 

“เมื่อดูจากปัจจัยหลายๆด้านพบว่าประเทศไทยมีศักยภาพทางด้านอุตสาหกรรมการบิน และทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาร์ต้า ได้มีการคาดการณ์ว่าในปี 74 ประเทศไทยจะมีปริมาณผู้โดยสารเดินทางเข้าออกมากเป็นอันดับ 9 ของโลก หรือประมาณ 200 ล้านคนต่อปี ซึ่งหากสามารถดำเนินการตามศักยภาพและปัจจัยที่มีสร้างรายได้เข้าประเทศ เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง”