“วันนักศึกษาวิชาทหาร” รำลึกถึง 'ยุวชนทหาร' วีรกรรมเยาวชนไทยที่หาญกล้าต้าน 'กองทัพญี่ปุ่น'

วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ ของเหล่ายุวชนทหาร ที่หลายคนยังคงไม่ลืม ความเสียสละ รักชาติ การร่วมมือกับทหาร และตำรวจเพื่อต่อต้านการรุกราน จากกองทัพญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งวีรกรรมของยุวชนทหาร ที่ทุกคนจดจำได้เป็นอย่างดี และไม่มีวันลืมคือ วีรกรรมการรบ ที่สะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร ซึ่งต่อมาได้มีการนำเหตุการณ์ดังกล่าว ไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง "ยุวชนทหาร เปิดเทอมไปรบ" ในพ.ศ. 2543

ปัจจุบันรัฐบาล ได้กำหนดให้ ทุกวันที่ "8 ธ.ค. เป็น วันนักศึกษาวิชาทหาร" ซึ่งได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร เชิงสะพานท่านางสังข์ จังหวัดชุมพร สำหรับเหตุการณ์การสู้รบ ที่ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ อันน่าจดจำของชนชาวไทย ในการต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศ จากการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นอันเกรียงไกร ที่ได้ถาโถมเข้าประเทศไทย ทางหัวเมืองชายทะเล

ลูกหลานไทย ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปจนถึงปัตตานี ต่างจับอาวุธเข้าต่อตีญี่ปุ่นอย่างดุเดือด สามารถหยุดกองทัพญี่ปุ่นไว้กับที่ได้ จนรัฐบาลอนุญาตให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไปทำศึกในพม่าและมลายู การรบจึงยุติลง ซึ่งที่จังหวัดชุมพรนั้น มีการสู้รบอย่างหนักหน่วงที่สะพานท่านางสังข์ และที่วัดท่ายางใต้ ซึ่งอยู่ในตำบลท่ายาง อำเภอเมืองชุมพร เด็กนักเรียนโรงเรียนศรียาภัยจำนวน 8 คนประกอบด้วย มารุต, ประยุทธ, บรรจง, สนั่น, สังวาน, สังเวียน, ประชุม และวัฒนา ทั้งหมดเป็นเด็กหนุ่มในวัยที่เต็มไปด้วยความฝัน และจินตนาการ แต่แล้วสงครามทำให้เด็กวัยรุ่นกลุ่มนี้ ต่างพร้อมใจกันอาสาสมัครที่จะไปตายเพื่อชาติ
 

เมื่อร้อยเอกถวิล และสิบเอกสำราญ และกลุ่มลูกน้อง เดินทางมาจังหวัดชุมพร เพื่อคัดเลือกและฝึกยุวชนทหาร เพื่อเสริมกำลังพลของชาติ ที่มีไม่เพียงพอหากเกิดสงครามขึ้น ทั้ง 8 คน จึงตัดสินใจลงสมัครพร้อมเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน การฝึกยุวชนทหารทั้งหมด เป็นการฝึกหนักเยี่ยงการฝึกทหารหาญทั่วไป แม้ขาดอาวุธในการฝึก เพราะหลายคนอาจจะไม่คิดว่าจะมีการเกิดสงครามขึ้นในที่สุด เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ชุมพร ยุวชนทหารทั้งหมดต่างกอดคอกันออกไปรบ เพื่อป้องกันประเทศ แม้อาวุธจะมีไม่เพียงพอ ทุกคนก็ต่อสู้จนเต็มกำลัง เพื่อผืนแผ่นดินไทย

ร้อยเอก ถวิล นิยมเสน ถูกกระสุนปืนข้าศึก ถึงแก่ความตาย สิบเอก สำราญ ควรพันธ์ ผู้นี้ได้อำนวยการรบ แทนผู้บังคับหน่วย จนตนเองถูกกระสุนข้าศึก กระดูกแขนขวาแตกละเอียด แต่ยังกัดฟันสู้อยู่ไม่ยอมถอย จนการรบยุติลง

สำหรับการฝึกยุวชนทหาร ถูกยกเลิกใน พ.ศ. 2490 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงได้ 2 ปี ตามพระราชบัญญัติ ยกเลิกพระราชบัญญัติยุวชนแห่งชาติ พุทธศักราช 2486 พ.ศ. 2490 เนื่องจากภาวะขาดแคลนครูฝึกและงบประมาณ อย่างไรก็ตาม แนวคิดเกี่ยวกับการฝึกยุวชนทหารนี้ ได้พัฒนาต่อมาเป็นการฝึก นักศึกษาวิชาทหาร

ภายใต้การควบคุมของ กรมการรักษาดินแดน หรือ หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ในปัจจุบันกองทัพบกเล็งเห็นว่า นักศึกษาวิชาทหาร ซึ่งพัฒนามาจาก ยุวชนทหารในอดีต ได้รับการฝึกและภารกิจเดียวกันคือ เป็นกำลังสำรองของประเทศ สนับสนุนกำลังประจำการ ในยามบ้านเมืองคับขัน จึงได้อนุมัติให้ วันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปีเป็น วันนักศึกษาวิชาทหาร และให้กระทำพิธีชุมนุมสวนสนาม นักศึกษาวิชาทหาร ประจำปี ในวันที่ 8 ธันวาคม พร้อมกันทั่วประเทศ
.
ส่วนอนุสาวรีย์ยุวชนทหาร ครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง อยู่ริมถนนด้านซ้ายมือ ของทางหลวงสายชุมพร-ปากน้ำ (สาย 4119) ห่างจากตัวเมืองชุมพรประมาณ 5 กม. อนุสาวรีย์แห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติ แด่ความกล้าหาญของวีรชนชาวชุมพรที่แสดงความกล้าหาญในการต่อสู้กับกองทหารญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2484 โดยจะมีพิธีวางพวงมาลา และการสวนสนามของนักศึกษาวิชาทหาร ในทุกวันที่ 8 ธันวาคม ของทุกปี เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย


ที่มา : https://forums.chiangraifocus.com/?topic=161784.0;wap2


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
👉 https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32