“อลงกรณ์”แนะ”ชลน่าน”อย่าทำผิดซ้ำสอง หลังประกาศรื้อฟื้นโครงการจำนำข้าว  ชี้สมาคมชาวนาหนุนโครงการประกันรายได้เพราะตอบโจทย์ปฏิรูปข้าวมากกว่า

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองหัวหน้าพรรคและประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการให้สัมภาษณ์ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้วที่กล่าวว่า”…โครงการประกันรายได้ ไม่ส่งเสริมการลดต้นทุน ไม่ส่งเสริมการผลิต และไม่ส่งเสริมการตลาด เป็นเพียงการชดเชยส่วนต่าง ซึ่งแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นการเข้าจัดการกลไกราคาตลาด ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น…”

โดยนายอลงกรณ์กล่าววันนี้(7ธ.ค)ว่า นพ.ชลน่านควรศึกษากรณีอดีตรัฐมนตรีพาณิชย์ แกนนำพรรค ข้าราชการและพ่อค้านักธุรกิจที่ติดคุกเพราะทุจริตโครงการจำนำข้าวรวมทั้งรายงานการศึกษาของทีดีอาร์ไอ(TDRI)ประเด็นความเสียหายที่ก่อหนี้ให้กับประเทศหลายแสนล้าน หากคิดจะฟื้นคืนชีพโครงการนี้ 

โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่รัฐซื้อข้าวทุกเมล็ดจากชาวนาแล้วจ้างโรงสีสีข้าวและเก็บข้าว เป็นการซื้อแพงสูงกว่าราคาตลาดโดยหวังว่าเมื่อซื้อข้าวมาเก็บไว้มากๆและซื้อราคาสูงจะทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นตามซึ่งเป็นแนวคิดทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นเช่นนั้น

ดังนั้นเมื่อไม่สามารถทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น และไม่สามารถระบายขายออกเพราะซื้อมาแพง ทำให้ข้าวค้างสต็อกหลายล้านตัน ในที่สุดโครงการขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวติดหนี้ค้างจ่ายชาวนา หลายคนถึงกับฆ่าตัวตายจนเป็นข่าวใหญ่ในช่วงปี2556-57

ประการสำคัญคือการซื้อข้าวทุกเม็ดเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพได้ทำลายมาตรฐานการผลิตและคุณภาพข้าวไทยและยังสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์หรือแบรนด์ข้าวของเราในตลาดโลก รวมทั้งการมีข้าวค้างสต็อกในประเทศไทยหลายล้านตันมีผลต่อการกดทับราคาข้าวในตลาดโลก

ยิ่งกว่านั้นยังมีการทุจริตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำมีคนของรัฐบาลร่วมกับเครือข่ายพรรคพวกนักธุรกิจพ่อค้าโกงกันแบบมโหฬารเป็นขบวนการใหญ่จนต้องโทษติดคุกจำนวนมาก

นับเป็นโครงการที่ล้มเหลวมีการคอรัปชั่นอื้อฉาวมากที่สุดและเสียหายมากที่สุดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท จนถึงวันนี้ประเทศยังต้องใช้หนี้ที่โครงการจำนำข้าวก่อไว้ อีกหลายปีกว่าจะหมดอย่าทำผิดซ้ำสองเลยครับ ลองอ่านผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ.(TDRI)เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวตามไฟล์ที่ผมแนบมาจะเข้าใจในเรื่องที่ผมกล่าวมาทั้งหมด คิดทบทวนให้ดี ไปสร้างนโยบายดีๆมีคุณภาพมานำเสนอใหม่น่าจะดีกว่านะครับ

สำหรับโครงการประกันรายได้ที่ท่านวิจารณ์โดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ด้วยข้อมูลและเหตุผลอย่างรอบด้านทำให้ผมต้องขอโอกาสในการทำความเข้าใจ

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวนาเป็นการประกันรายได้ไม่ใช่ประกันราคาเมื่อราคาข้าวต่ำกว่าเกณฑ์ประกันรายได้ ชาวนาจะได้เงินส่วนต่างชดเชย เช่นถ้าชาวนาขายโรงสีได้7พันก็จะได้ชดเชยส่วนต่าง3พันสำหรับข้าวเปลือกเจ้าที่ความชื้น15เปอร์เซ็นต์ เป็นต้นโดยระหว่างนั้นก็มีมาตรการเสริมอื่นๆเพื่อยกระดับราคาข้าวและสนับสนุนการผลิตของชาวนา

การจ่ายเงินส่วนต่างจะโอนตรงจากธกส.ไปยังบัญชีชาวนาโดยตรงเพื่อไม่ให้เกิดการรั่วไหลและเป็นโครงการที่เกษตรกรพึงพอใจมากที่สุดโครงการหนึ่งของรัฐบาลเพราะสามารถสร้างหลักประกันรายได้(Universal basic income)จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงที่เกิดความผันผวนของราคาผลผลิตทางการเกษตรจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด19ที่ทำให้เศรษฐกิจวิกฤตไปทั่วโลก ถือเป็นนโยบายเรือธง(Flagship policy)ของพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาล

โครงการนี้ได้ช่วยพัฒนาฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรและครอบครัวเกือบ30ล้านคนเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีแรงงานและการจ้างงานมากที่สุดซึ่งเป็นฐานรากสำคัญที่สุดของประเทศ ทำให้สามารถรักษาการผลิตสินค้าเกษตรสร้างรายได้ในการส่งออกให้กับประเทศของเราจนเป็นอันดับต้นของสินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า1ล้านล้านบาทต่อปีในช่วง2ปีที่ผ่านมา

โครงการประกันรายได้ไม่ใช่โครงการโดดๆแต่เป็นส่วนหนึ่งของช่วงเปลี่ยนผ่าน(Transition period)ของการปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อสร้างศักยภาพใหม่ของข้าวและชาวนาภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าว5ปี(2563-2567)ขับเคลื่อนด้วย4ยุทธศาสตร์ตั้งแต่ต้นน้ำการผลิตมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพลดต้นทุนพัฒนาพันธ์ุสร้างมาตรฐานเชื่อมโยง”กลางน้ำ”การแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มและ”ปลายน้ำคือการตลาดแบบออนไลน์และออฟไลน์ทั้งตลาดในและต่างประเทศตามโมเดลเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต
ซึ่งสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยก็ประกาศเห็นด้วยและสนับสนุนโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายใต้ยุทธศาสตร์ปฏิรูปข้าว5ปี

การปฏิรูประบบข้าวในพื้นที่60ล้านไร่ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลารวมทั้งต้องมีนโยบายและแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน ทำได้ไวทำได้จริง

วันนี้การปฏิรูปข้าวทั้งระบบครบวงจรเริ่มคืบหน้าในทิศทางที่ถูกต้องอย่างมีอนาคต ตัวอย่างเช่น โครงการGlobal Food Valley หรือนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารที่มีศูนย์แปรรูปข้าวใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังสร้างในเขตผลิตข้าวลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพื่อสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ,โครงการข้าวอินทรีย์(Organic Rice)ตั้งเป้า 1,000,000 ไร่ส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิในภาคอีสานผ่านการรับรองกว่า3แสนไร่แล้ว ,การพัฒนาโลจิสติกส์เกษตรอย่างมีเป้าหมายขยายตลาดข้าว,การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม(ศูนย์AIC-Agritech and Innovation Center)ครบทั้ง77จังหวัด เป็นครั้งแรกเพื่อดูแลภาคเกษตรทุกจังหวัดได้คิกออฟพร้อมกันตั้งแต่1มิถุนายน2563 ทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาสร้างเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่และถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่เกษตรกรชาวนาและนาข้าวทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ ตลอดจนการยกระดับนาแปลงใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรกลและระบบเกษตรอัจฉริยะกว่า3,000แปลงในทุกภาค

รวมทั้งการพัฒนาและส่งเสริมพันธุ์ข้าวใหม่ใน3กลุ่มใหญ่คือข้าวพื้นแข็งข้าวพื้นนุ่มและข้าวโภชนาการสูงซึ่งมีศักยภาพสูงตรงกับความต้องการของตลาดสามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศอย่างยั่งยืน,การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่(Young smart farmer)กว่า20.000คน และสมาร์ท ฟาร์ม(Smart Farmer),การส่งเสริมการค้าข้าวออนไลน์สร้างทีมอีคอมเมิร์ซครบทุกจังหวัดแล้วภายใต้โครงการLocal Hero และการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ(National Agriculture Big Data Center: NABC)เป็นครั้งแรกเริ่มเปิดทำการตั้งแต่เดือนมีนาคมปี2563 ต่อไปชาวนาจะมีข้อมูลทั้งการผลิตจนถึงข้อมูลราคาและสถานการณ์ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยแอพพลิเคชันดูได้บนมือถือของตัวเองจะไม่ถูกใครเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป

ยังมีโครงการอีกมากที่ไม่อาจกล่าวได้หมดหากสนใจมานั่งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลได้ตลอดเวลาครับ ผมคิดว่าเราจะย่ำเท้าอยู่กับที่ปล่อยให้ปัญหาจมปลักอยู่ที่เดิม หรือมีโครงการฉาบฉวยแบบเดิมๆและชาวนาต้องติดหล่มความยากจนและหนั้สินเหมือนในอดีตอีกต่อไปไม่ได้ 

การปฏิรูปข้าวเชิงโครงสร้างและระบบเป็นโมเดลการบริหารจัดการที่จำเป็นและสำคัญมากซึ่งกำลังเร่งดำเนินการจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ข้าว5ปี ซึ่งท่านคงเห็นด้วยกับผมนะครับ