ลอบสังหาร ‘จอมพล ป.’ โดยฝีมือคนใกล้ชิด รอดหวุดหวิดก่อนได้สมญา ‘จอมพลกระดูกเหล็ก’

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น ซึ่งเป็นวันที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ถูกลอบสังหารอีกเป็น ‘ครั้งที่ 2’ โดยการใช้ปืนยิง ซึ่งในวันที่ถูกยิงเป็นช่วงเวลาหลังการยุบสภาและก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และแม้ว่าหลวงพิบูลสงคราม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งโดยตรง เพราะตัวท่านเองไม่ได้ลงเลือกตั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่านเองเป็นนักการเมืองที่มีอำนาจมากที่สุดโดยฐานสนับสนุนทางกองทัพ

ซึ่งเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้เกิดขึ้นตอนค่ำของวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ที่บ้านพักนายทหารของท่านเอง ในกรมทหารปืนใหญ่บางซื่อ ขณะที่หลวงพิบูลสงครามและภริยากำลังแต่งตัวจะไปงานเลี้ยงรับรองที่กระทรวงกลาโหม นายลี บุญตา เป็นคนสวนและคนขับรถในบ้านได้แอบเอาปืนพกของคุณหลวงพิบูลสงครามเองที่ท่านวางไว้ในรถออกมาลอบยิงท่าน 

บังเอิญท่านกำลังยืนแต่งตัวอยู่หน้ากระจกส่องหน้าจึงได้มองเห็นก่อนที่นายลี บุญตา จะลั่นไกกระสุนนัดแรก เมื่อนัดแรกพลาด ท่านจึงวิ่งหลบออกจากห้อง โดยนายลี บุญตา พยายามวิ่งไล่และยิงซ้ำอีก แต่กระสุนก็พลาดเป้า และทหารติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายทหารคนสนิทของรัฐมนตรี คือ ร.อ.เผ่า ศรียานนท์ ได้วิ่งเข้าไปจับตัวมือปืนเอาไว้ได้

มือปืนรายนี้ถูกจับดำเนินคดีโยงเข้ากับกลุ่มกบฏพระยาทรงสุรเดช แต่จากคำให้การของ นายลี บุญตา นั้นดูจะเป็นเรื่องแปลก นายลี บอกว่า

“ได้อยู่กับหลวงพิบูลมา 7 ปีแล้ว ได้เงินเดือนครั้งแรก 6 บาทและขึ้นมาเป็นลำดับจนถึงวันเกิดเหตุได้เดือนละ 25 บาท หลวงพิบูลเป็นคนใจคอดี ไม่เคยดุด่าว่าจำเลยแต่อย่างใดเลย วันเกิดเหตุได้ยิงหลวงพิบูลสงคราม 2 นัดจริง นัดแรกยิงเมื่อหลวงพิบูลสงครามได้วิ่งเข้าไปอยู่อีกห้องหนึ่งแล้วปิดประตู จำเลยได้ผลักประตูตามเข้าไปยิงอีก คนที่อยู่ในห้องนั้นตลอดจนหญิงและเด็ก ต่างร้องเสียงเกรียวกราว แล้วจึงมีนายร้อยตรี ผล มาตวัดคอ แย่งปืนไป การที่ยิงนั้นเพราะเมาและไม่ได้ตั้งใจจะยิง”

โดยจากการที่ นายลี บุญตา อ้างว่า “เมา” และ “ไม่ได้ตั้งใจยิง” นั้นมีความผิดปกติไม่น้อย จาการอ้างว่าไม่ได้ตั้งใจยิงหากแต่ยิงออกไปถึง 2 นัด แต่ขณะเดียวกันก็ยิงไม่โดนทั้ง 2 นัด ซึ่งดูสมเหตุสมผลกับสิ่งที่นายลี อ้างว่าตนเองนั้นเมา แต่การเมาไปหยิบปืนของนายพันเอกหลวงพิบูลสงครามมาได้อย่างไรเหมือนรู้ และถ้าไปดูคำให้การของนายทหารติดตามรัฐมนตรีที่แย่งปืนมาได้ก็ให้การว่า นายลี บุญตา วิ่งไล่ยิงเจ้านายของตัว จนวิ่งหนีแทบไม่ทัน

ซึ่งระหว่างที่ศาลพิเศษกำลังพิจารณาคดี ทางราชการได้มีคำสั่งห้ามหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ลงรายงานข่าวนี้อย่างเด็ดขาด จนประชาชนเกือบจะลืมเรื่องราวจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้นเมื่อผลการพิพากษาออกมาในเดือนพ.ย. พ.ศ. 2482 จึงสร้างความตื่นเต้นและสลดใจแก่ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการลงโทษ “ประหารชีวิต” นักโทษในคดีนี้ถึง 18 คนด้วยกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น

เมื่อได้ทำการประหารชีวิตนักโทษ 18 ท่านไปแล้ว “กรมโฆษณาการ” จึงได้ออกแถลงการณ์ดังนี้ “ตามที่ศาลพิเศษได้ตัดสินประหารชีวิตนักโทษในคดีกบฏรวม 18 คนไปแล้ว และพวกนักโทษทั้ง 18 คนได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกานั้น นับแต่วันที่ได้มีการยกฎีกาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ทางการได้นำตัวนักโทษดังกล่าว แล้วไปดำเนินการประหารชีวิตเป็นลำดับมา การประหารได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 เดือนนี้เวลา 6.00 น.”

จากการตัดสินจะเห็นได้ว่า เหตุลอบสังหารในครั้งนี้มีความเชื่อมโยงกับคนบางกลุ่ม และแม้การลอบสังหารเพื่อปลิดชีพพันเอกหลวงพิบูลสงคราม ในครั้งนั้นไม่สำเร็จ แต่ในทางกลับกันเหตุการณ์นี้ก็นำมาสู่การประหารชีวิตนักโทษในคดีกบฏรวม 18 ชีวิต ที่สร้างความสะเทือนใจให้กับคนไทยไม่น้อย


ที่มา : https://www.tnews.co.th/religion/376760/9-พย-วันลอบสังหาร-จอมพล-ปพิบูลสงคราม-!!!-เหตุการณ์สำคัญแห่งประวัติศาสตร์ที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยรู้-!!!


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32