“รองโฆษกปชป.” หวังสภาฯวางหลักให้ ส.ส. อภิปรายตรงตามประเด็น เพื่อเพิ่มเวลาคุณภาพในการพิจารณากม.-ญัตติที่ค้างอยู่ ยันประชาธิปัตย์ มีปชช.เป็น “นาย”กำหนดทิศทางการทำงาน

นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 3-5 พ.ย.นี้ว่า ในวันที่ 1 ตค.นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญตัวแทนของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และวิปฝ่ายค้าน เพื่อหารือถึงแนวทางการทำงาน โดยเฉพาะการใช้เวลาของสภาฯให้คุ้มค่าและพิจารณาร่างกฎหมายได้อย่างรวดเร็ว เพราะต้องยอมรับว่า ขณะนี้ยังมีร่างกฎหมายที่จะต้องพิจารณาเป็นจำนวนมาก อาทิร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่มีสาระสำคัญในการคุ้มครองงานที่มีลิขสิทธิ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีอย่างรวดเร็ว และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการทางอินเตอร์เน็ตและเจ้าของลิขสิทธิ์ในการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นการแก้ไขเพื่อเพิ่มมาตรการพิเศษและขยายระยะเวลาในการคุ้มครองพยานและบุคคลผู้ใกล้ชิดในคดีสำคัญๆ

เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่มีเนื้อหาในการเพิ่มการคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหายในความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน ในด้านร่างกาย ชีวิต เสรีภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมากยิ่งขึ้น เป็นต้น

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่า รวมทั้งยังมีญัตติที่ขอให้สภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาเป็นการเฉพาะกว่า 200 ญัตติ ดังนั้นตนจึงหวังว่า การประชุมร่วมกันในระหว่างผู้เกี่ยวข้อง น่าจะได้มีการวางหลักการและกติกาเพื่อควบคุมให้บรรดา ส.ส. ได้อภิปรายตรงตามประเด็น เพื่อเป็นการเพิ่มเวลาคุณภาพในการพิจารณากฎหมายและญัตติต่างๆ ที่คั่งค้างอยู่อย่างรอบคอบและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด 

นายชัยชนะกล่าวต่อว่า ส่วนในวันที่ 2 พ.ย.พรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุม ส.ส. เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมสภาฯ ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคฯ ได้กำชับ ส.ส. ของพรรค ให้ลุยทำงานในสภาเต็มที่ ทั้งนี้ ส.ส. ถือเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศในการตรากฎหมาย ซึ่งกฎหมายหลายๆฉบับนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่มาจากความต้องการของประชาชนแล้วทาง ส.ส. ก็ไปรวบรวมข้อมูลมาพูดในสภาฯ เพื่อชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนภายหลังจากการบังคับใช้กฎหมายเป็นสำคัญ

ดังนั้น ส.ส. ของพรรคทั้ง 50 กว่าคน จะทำหน้าที่ในสภาฯ อย่างเต็มที่ เพื่อทำให้ประชาชนเห็นว่าประชาธิปัตย์ สามารถสะท้อนความต้องการและสามารถคุ้มครองเจตนารมณ์ของประชาชนสมกับที่ประชาชนไว้วางใจและเป็น ‘นาย’ ในการกำหนดทิศทางการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์มาตลอด 75 ปี และจะเป็น ‘นาย’ ตลอดไปด้วย