โคราชอ่วม!! ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ 24 อำเภอ ตัวเมือง จมบาดาลแล้ว 12 ชุมชน

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดนครราชสีมา สรุปสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา มีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมรวม 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโนนสูง อำเภอคง อำเภอเมืองยาง อำเภอประทาย อำเภอสีคิ้ว อำเภอพิมาย อำเภอด่านขุนทด อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอปักธงชัย อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอโนนไทย รวม 58 ตำบล 280 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร 12 ชุมชน 7,403 ครัวเรือน ประกอบด้วย

+ อำเภอโนนสูง มีพื้นที่ประสบภัย รวม 9 ตำบล 38 หมู่บ้าน 519 ครัวเรือน
+ อำเภอคง รวม 7 ตำบล 27 หมู่บ้าน 114 ครัวเรือน
+ อำเภอเมืองยาง รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน 9 ครัวเรือน
+ อำเภอประทาย รวม 3 ตำบล 9 หมู่บ้าน 22 ครัวเรือน
+ อำเภอสีคิ้ว รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน 2 ครัวเรือน
+ อำเภอพิมาย รวม 7 ตำบล 84 หมู่บ้าน 259 ครัวเรือน
+ อำเภอด่านขุนทด รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน 176 ครัวเรือน
+ อำเภอโนนไทย รวม 4 ตำบล 18 หมู่บ้าน 634 ครัวเรือน
+ อำเภอสูงเนิน รวม 8 ตำบล 47 หมู่บ้าน 1,638 ครัวเรือน
+ อำเภอขามทะเลสอ รวม 1 ตำบล 4 หมู่บ้าน 36 ครัวเรือน
+ อำเภอปักธงชัย รวม 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน 22 ครัวเรือน
+ อำเภอเมือง รวม 10 ตำบล 36 หมู่บ้าน 1,714 ครัวเรือน

สำหรับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา รวม 1 เทศบาลนคร 12 ชุมชน 2,259 ครัวเรือน ถนน 4 สาย สถานที่ราชการ 10 แห่ง วัด 2 แห่ง ประกอบด้วย ชุมชนมิตรภาพ ซ.4 388 ครัวเรือน, ชุมชนสำโรงจันทร์ 140 ครัวเรือน, ชุมชนหลังวัดสามัคคี 105 ครัวเรือน, หมู่บ้านวีไอพี, ชุมชนท่าตะโกพัฒนา 275 ครัวเรือน, ชุมชนตะคองเก่า 221 ครัวเรือน, ชุมชนหลัง รพ. 207 ครัวเรือน, ชุมชนเซ็นแมรี่, ชุมชนประปาพัฒนา 94 ครัวเรือน, ชุมชนมหาชัย-อุดมพร 310 ครัวเรือน, ชุมชนเกษตรสามัคคี 1 จำนวน 123 ครัวเรือน, ชุมชนเกษตรสามัคคี 2 จำนวน 180 ครัวเรือน และชุมชนบุมะค่า 217 ครัวเรือน

สถานที่ราชการประกอบด้วย โรงเรียนอนุบาลเมืองนครราชสีมา, วิทยาลัยอาชีวศึกษา, โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา, โรงเรียนสุรนารีวิทยา, โรงเรียนอัสสัมชัญ, โรงเรียนเทศบาล 4 (เพาะชำ), สถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ 2, วัดโคกไผ่, สำนักงานทางหลวงนครราชสีมา 1-2 , มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และวัดศาลาลอย

ถนนที่ถูกน้ำท่วม 4 สาย ประกอบด้วย ทางหลวงหมายเลข 204 ทางเลี่ยงเมืองตอนสามแยกปักธงชัย-จอหอ น้ำท่วมผิวทางการจราจรสูง 20-30 ซม. ระยะทางประมาณ 1 กม., ถนนมิตรภาพ ทางหลวงหมายเลข 2 กม. 148+500+149+400, ถนนสุระ 2 (นม.1120), ถนนสิริราชธานี (ทางเข้าประโดก-โคกไผ่) - ถนนทางเผือกทางเข้า รพ.มหาราชนครราชสีมา สถานการณ์น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย (ด้านการเกษตร/ด้านประมง/ด้านปศุสัตว์) ดังนี้ ด้านการเกษตร พื้นที่การเกษตรที่ประสบอุทกภัย 1,060,820 ไร่ คาดว่าจะเสียหาย 855,322 ไร่ ข้าว 590,564 ไร่, มันสำปะหลัง 204,290 ไร่, ข้าวโพด 52,560ไร่, อ้อย 3,944 ไร่, พืชผักอื่นๆ 2,361 ไร่, ไม้ผล และอื่นๆ 1,604 ไร่ (ข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ณ วันที่ 18 ต.ค. 64)

ด้านประมง พื้นที่ที่ประสบอุทกภัย รวม 13 อำเภอ 44 ตำบล 200 หมู่บ้าน เกษตรกร 2,672 ราย บ่อปลา จำนวน 4,803.50 ไร่ (ข้อมูลสำนักงานประมง จ.นครราชสีมา ณ วันที่ 5 ต.ค. 64) ด้านปศุสัตว์ จำนวนสัตว์ที่อพยพ รวม 8 อำเภอ 17 ตำบล 78 หมู่บ้าน เกษตรกร 1,027 ราย อพยพสัตว์ โค 9,585 ตัว, กระบือ 212 ตัว, สุกร 36 ตัว, แพะ 249 ตัว, ไก่ 84 ตัว, การให้ความช่วยเหลือ พืชอาหารสัตว์ 44,200 กิโลกรัม อาหารผสมสำเร็จ 18,000 กิโลกรัม (ข้อมูลสำนักงานปศุสัตว์ จ.นครราชสีมา ณ วันที่ 8 ต.ค.64)

ทั้งนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่า ด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 รวม 24 อำเภอ 166 ตำบล 1,577 หมู่บ้าน 13 ชุมชน ได้แก่ อำเภอด่านขุนทด โนนสูง พิมาย โนนไทย พระทองคำ เทพารักษ์ เฉลิมพระเกียรติ เสิงสาง แก้งสนามนาง ปักธงชัย ปากช่อง สูงเนิน บ้านเหลื่อม สีคิ้ว ลำทะเมนชัย หนองบุญมาก ชุมพวง เมืองยาง โชคชัย ขามทะเลสอ คง โนนแดง ประทาย และสีดา

นอกจากนี้ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัย (อุทกภัย) ตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2558 รวม 31 อำเภอ 218 ตำบล 2,164 หมู่บ้าน 23 ชุมชน ได้แก่ อำเภอโนนสูง ด่านขุนทด ปักธงชัย วังน้ำเขียว โชคชัย ครบุรี ปากช่อง เสิงสาง พิมาย โนนไทย จักราช เฉลิมพระเกียรติ พระทองคำ เทพารักษ์ แก้งสนามนาง เมืองนครราชสีมา ชุมพวง สูงเนิน ขามสะแกแสง คง ห้วยแถลง บ้านเหลื่อม หนองบุญมาก บัวใหญ่ สีคิ้ว ประทาย โนนแดง ขามทะเลสอ สีดา เมืองยาง และลำทะเมนชัย

จังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวในพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 14 แห่ง ในพื้นที่ 6 อำเภอ 10 ตำบล มีผู้อพยพทั้งสิ้น รวม 410 คน ปัจจุบัน มีประชาชนอพยพ 2 แห่ง 2 อำเภอ 2 ตำบล ได้แก่ อำเภอโนนสูง (วัดด่านติง 7 คน ตำบลจันอัด) และอำเภอโนนไทย (ศาลา SML 15 ราย ตำบลกำปัง)

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 5 (ปภ.เขต5) นครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่จากอีกหลายหน่วยงาน ได้เข้าช่วยเหลืออพยพ นายโยธิน เมธชนันท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และครอบครัวออกจากบ้านพัก ในหมู่บ้าน VIP เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ถูกน้ำลำตะคองเอ่อท่วมสูงมากกว่า 1.5 เมตร เป็นการด่วน


ที่มา : https://www.naewna.com/local/610326
ภาพจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา