“สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดศูนย์หนังสือจุฬาฯ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2526

ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็น "ร้านหนังสือในดวงใจ ของคนไทยทั้งประเทศไทย" ผู้นำความครบถ้วนหลากหลาย หนังสือภาษาไทย - ต่างประเทศ และสื่อการศึกษา ให้ข้อมูลที่เป็นกลางทั้งลูกค้า และสำนักพิมพ์ ดำเนินกิจการในรูปวิสาหกิจที่ต้องเลี้ยงตัวเอง และดำเนินงานคล้ายระบบธุรกิจเอกชน ที่มิได้แสวงหากำไรสูงสุด แต่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดภายนอกได้ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ อยู่ในฐานะเป็นหน่วยงานบริการของมหาวิทยาลัย ที่มีนโยบาย แน่วแน่ในการสร้างคนไทยให้มีคุณภาพ มีนิสัย ใฝ่รู้ รักการอ่าน รู้จักค้นคว้าหาข้อมูล และนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและบ้านเมือง

ปัจจุบันศูนย์หนังสือจุฬาฯ มีพนักงานกว่า 300 ชีวิต ภายใต้การนำของคุณวิมลพรรณ คำประชา ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ศูนย์รวมความก้าวหน้าทางวิชาการ สาระ บันเทิง ทันสมัยครบวงจร แหล่งรวมที่ครบถ้วน ทั้งหนังสือภาษาไทย ภาษาต่างประเทศกว่า 100,000 รายการ วัสดุอุปกรณ์การศึกษา เครื่องใช้สำนักงาน ด้วยราคายุติธรรม และบริการสอบถาม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ออนไลน์ ค้นหาหนังสือทุกเล่ม สะดวก รวดเร็ว ทันความต้องการ

ความเป็นมาของศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2518 ภายใต้อาคารเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้บริการแก่นิสิต และคณาจารย์ในจุฬาฯ โดยวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ

วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2526 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยวเป็นแห่งแรก ด้วยพื้นที่ 1,200 ตารางเมตร เพื่อให้บริการตำราเรียน หนังสือภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ สื่อสร้างสรรค์ ซีดี-รอม วิดิทัศน์ เครื่องเขียน แผนกบริการตำราและห้องสมุด แผนกขายส่ง จึงถือเป็นการเริ่มต้นอย่างมั่นคงในวงการธุรกิจหนังสือของศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยว ดังจะเห็นได้จากรางวัลที่ได้รับ อาทิ รางวัลร้านค้าดีเด่น ปี 2535 จากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และรางวัลร้านหนังสือพัฒนาดีเด่น ปี 2551 รางวัลร้านหนังสือในดวงใจ ปี 2554 ขนาดกลาง กรุงเทพมหานคร รางวัลร้านหนังสือดีเด่น ประเภทร้านหนังสือทรงคุณค่า ปี 2545 จากชมรมส่งเสริมการจัดจำหน่ายหนังสือ

วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2532 อาคารแว่นแก้ว ถือกำเนิดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์ ซอย 9 เป็นที่ทำการของฝ่ายสารสนเทศ ฝ่ายบัญชีการเงิน แผนกคลังสินค้า แผนกศิลปกรรม และยังความภาคภูมิใจของชาวศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ที่ได้รับพระราชทาน พระมหากรุณาธิคุณให้อัญเชิญพระนามแฝงในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นชื่ออาคารแห่งนี้ และวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2540 ก้าวแรกที่ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ออกจากรั้วมหาวิทยาลัย มาเปิดให้บริการย่านใจกลางศูนย์การค้าสยามสแควร์ ในนามศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ สาขาสยามสแควร์ อาคารวิทยกิตติ์ ชั้นG ในปี พ.ศ. 2545 และ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ได้ขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มขึ้นไปยังชั้น 14 ในอาคารเดียวกัน โดยเปิดเป็นตลาดนัด คู่มือสอบเพื่อตอบสนองความต้องการแก่เยาวชนระดับมัธยมศึกษา

25 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เปิดทำการศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ สาขาจัตุรัสจามจุรี ภายในอาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น 4

23 มีนาคม พ.ศ. 2558 ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยว เปิดปรับปรุงโฉมใหม่ ด้วยรูปลักษณ์ที่ทันสมัย ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ ในยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน

8 เมษายน พ.ศ. 2560 เปิดทำการศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ สาขาหัวหมาก พร้อมศูนย์กระจายสินค้าที่ทันสมัย

19 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เปิดโฉมใหม่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ สยามสแควร์ ในรอบ 2 ทศวรรษ ด้วยบรรยากาศโปร่ง โล่ง สบาย แต่คงเอกลักษณ์ของแหล่งเรียนรู้ที่ครบถ้วนหลากหลาย พร้อมมุมอบอุ่นจิบเครื่องดื่มเย็นใจ บริเวณชั้นลอยด้วยร้านกาแฟคนรักหนังสือ “ฬ Book Chub” 

4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556  ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาฯ ศาลาพระเกี้ยว ได้ขับเคลื่อนการให้บริการคณาจารย์ นิสิต ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยการเปิดสาขาย่อยที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ


ที่มา: https://www.chulabook.com/th/about/history


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32