เปิดความคืบหน้า 6 วัคซีนโควิด ฝีมือนักวิจัยไทย ชี้ เป็นจุดเริ่มต้นความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานเครือข่าย เปิดเวทีเสวนา THAILAND COVID-19 VACCINE FORUM 2021 สถานการณ์ความก้าวหน้า การพัฒนาวัคซีนไทยสู้โควิด โดยทีมประเทศไทย พร้อมอัปเดตความก้าวหน้าสถานการณ์การวิจัย พัฒนาวัคซีนของประเทศไทย รวมถึงแผนที่กำลังดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคต

สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และหน่วยงานเครือข่าย ร่วมเสวนา THAILAND COVID-19 VACCINE FORUM 2021 สถานการณ์ความก้าวหน้า การพัฒนาวัคซีนไทยสู้โควิด โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทใบยา-ไฟโตฟาร์ม จำกัด ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการไบโอเทค สวทช. ดร.ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 HXP-GPOVac องค์การเภสัชกรรม คุณวิฑูรย์ วงศ์หาญกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า นับตั้งแต่ที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 หน่วยงานเครือข่ายด้านวัคซีนทั้งภาครัฐและเอกชนได้ระดมสรรพกำลังในทุกด้านร่วมกันเป็น “ทีมประเทศไทย” ร่วมดำเนินการเพื่อให้ประเทศ ได้ผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาดนี้ไปได้ ทั้งนี้ ทีมประเทศไทยได้มีการวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในหลายชนิด ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีในการเริ่มต้นเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ

ด้าน ศ.นพ.เกียรติ ได้อัปเดตความก้าวหน้าของการวิจัยพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19 วัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งเริ่มดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยมีการทดสอบในอาสาสมัคร 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอายุ 18-55 ปี จำนวน 36 ราย และกลุ่มอายุ 56-75 ปี จำนวน 36 ราย ฉีดวัคซีน 2 เข็มห่างกัน 3 สัปดาห์ ผลเบื้องต้นในกลุ่มอายุ 18-55 ปี พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิกันได้ดี ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรง โดยอาสาสมัครมีอาการข้างเคียงเล็กน้อยถึงปานกลาง อาการจะดีขึ้นภายใน 1 ถึง 2 วัน โดยอาการที่พบ ได้แก่ เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ หนาวสั่น และมักพบภายหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 

อย่างไรก็ตาม การทดสอบในขั้นนี้ได้ทำการทดสอบในประชากรจำนวนน้อย และยังต้องติดตามผลความปลอดภัยในประชากรที่มากขึ้น ส่วนในกลุ่มอายุ 55-75 ปี ยังอยู่ระหว่างการทดสอบ คาดว่าจะทราบผลเบื้องต้นในกลางเดือนหน้า และขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อเตรียมการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ต่อไป ขณะเดียวกันก็ได้เตรียมความพร้อมขยายกำลังการผลิตวัคซีน และคาดว่าจะสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในประเทศได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 

พร้อมกันนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการพัฒนาวัคซีน Chula-Cov 19-2 ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นที่ 2 ที่ตอบสนองต่อเชื้อไวรัสกลายพันธุ์อีกด้วย ทั้งนี้ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวเน้นย้ำว่า การที่ประเทศไทยสามารถดำเนินการพัฒนาและผลิตวัคซีนได้อย่างครบวงจรเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

ผศ.ภญ.ดร.สุธีรา ผู้ร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด Protein subunit จากระบบการผลิต recombinant protein โดยการตัดต่อพันธุกรรมของแบคทีเรียที่ก่อโรคในพืช (Agrobacterium) ในใบยาสูบ ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าการวิจัยพัฒนาวัคซีนของบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม บริษัท startup ในเครือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพ ความปลอดภัย และความเป็นพิษในสัตว์ทดลองเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในระหว่างการพัฒนาได้มีการปรับสูตรวัคซีนให้สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนทำการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ บริษัทได้ดำเนินการสร้างโรงงานผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมขึ้นมา เพื่อรองรับการผลิตวัคซีนจากระบบดังกล่าว คาดว่าจะมีกำลังการผลิตจำนวน 1-5 ล้านโดสต่อเดือน 

โดยใช้ระยะเวลาในการสร้างโรงงานรวม 10 เดือน ปัจจุบันวัคซีนอยู่ในระหว่างการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 โดยได้เริ่มฉีดให้กับอาสาสมัครจำนวน 4 รายแรกตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ขณะนี้ยังไม่พบข้อกังวลด้านความปลอดภัย และจะดำเนินการฉีดให้กับอาสาสมัครรุ่นแรกที่เหลืออีก 12 ราย ในวันที่ 30 กันยายน 2564 สำหรับการทดสอบในมนุษย์ของวัคซีนใบยามี ศ.นพ.เกียรติ ร่วมเป็นนักวิจัยทางคลินิกด้วย นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้พัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง โดยปรับปรุงสูตรด้วยการใช้ Adjuvant ชนิดใหม่ ทำให้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และมีการพัฒนาจากเชื้อไวรัสกลายพันธุ์มากกว่า 10 รูปแบบ เพื่อพัฒนาเป็นวัคซีนผสม (Cocktail vaccine) ซึ่งวัคซีนรุ่นที่สองนี้อยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลอง

สำหรับความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนต้นแบบของ สวทช. ดร.อนันต์ ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนชนิด Viral Vector แบบพ่นจมูกว่า สวทช. ดำเนินการวิจัยพัฒนาในสองรูปแบบ ได้แก่ การใช้ Adenovirus เป็นพาหะ (Adenovirus based) และการใช้ไวรัสไข้หวัดใหญ่เป็นพาหะ (Influenza based) ขณะนี้ Adenovirus based อยู่ระหว่างการทดสอบในหนูทดลอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ไวต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา โดยเป็นการเลียนแบบช่องทางการติดเชื้อในธรรมชาติ ทำให้มีการสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจ และเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนชนิด Adenoviral Vector เข้ากล้ามเนื้อ 

ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่าหนูทดลองสร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจได้ดีเทียบเท่ากันทั้งรูปแบบการให้วัคซีนทางการพ่นจมูกและฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนวัคซีนชนิด Influenza based เป็นการประยุกต์ใช้ให้วัคซีนสามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งวัคซีนชนิดนี้อยู่ระหว่างเตรียมการทดสอบในหนูทดลองซึ่งจะเป็นการให้วัคซีนแบบพ่นจมูก โดยการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แบบพ่นจมูกนี้ มีทีมวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลกใช้วิธีนี้ด้วยเช่นกัน 

ทั้งนี้ สำหรับแผนการขยายกำลังการผลิตวัคซีนชนิด Adenovirus based สวทช. ได้มีความร่วมมือกับบริษัท คินเจนไบโอเทค ส่วนวัคซีนชนิด Influenza based เป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. และองค์การเภสัชกรรม

ด้านความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมนั้น ดร.ภญ.พรทิพย์ ได้ให้ข้อมูลว่า วัคซีน HXP-GPOVac ซึ่งเป็นวัคซีนที่พัฒนามาจากไวรัสนิวคาสเซิล (NDV) ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนโปรตีนส่วนหนามของไวรัสโคโรนา (Hexapro) จากการเพาะเลี้ยงไวรัสในไข่ไก่ฟักได้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่องค์การเภสัชกรรมสามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในการผลิต โดยวัคซีนชนิดนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานระหว่างประเทศ ได้แก่ สถาบัน PATH สหรัฐอเมริกา และโรงเรียนแพทย์ Mount Sinai ในนิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเท็กซัส และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิดนี้ให้กับหลายหน่วยงาน 

รวมถึงองค์การเภสัชกรรมด้วย ปัจจุบันองค์การเภสัชกรรมได้เผยแพร่ผลงานวิจัยของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งใช้อาสาสมัครในขั้นนี้จำนวน 210 ราย ผลการทดสอบในอาสาสมัคร พบมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับน้อยและสามารถหายได้เอง อาการทั่วไปที่พบได้แก่ ปวด บวม บริเวณที่ฉีด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ทั้งนี้ วัคซีน HXP-GPOVac อยู่ระหว่างการเตรียมทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 โดยคาดว่าจะสามารถทำการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และจะสามารถขอขึ้นทะเบียนวัคซีนได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2565

คุณวิฑูรย์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ผู้พัฒนาวัคซีน Covigen วัคซีนโควิด-19 ชนิด DNA กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทดำเนินการตั้งแต่การวิจัยพัฒนาในห้องปฏิบัติการจนกระทั่งถึงการทดสอบในสัตว์ทดลอง ทั้งหมดใช้ระยะเวลา 90 วัน ทางบริษัทเชื่อว่าวัคซีนรูปแบบที่ใช้สารพันธุกรรมในการผลิตจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการพัฒนาวัคซีน 

โดยเฉพาะการพัฒนาวัคซีนที่ต้องการความรวดเร็ว เช่น เพื่อตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ และมีความเชื่อว่าต่อไปการพัฒนาวัคซีนจะมีการใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้น โดยวัคซีน Covigen ซึ่งเป็นวัคซีนรุ่นแรก ได้เข้าสู่การทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ที่ออสเตรเลีย ในช่วงเดือนเมษายน 2564 และต่อมาบริษัทได้เริ่มการพัฒนาวัคซีนต่อไวรัสกลายพันธุ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ สำหรับการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในประเทศไทยจะสามารถดำเนินการได้ในไตรมาสแรกของปี 2565 นอกจากการพัฒนาวัคซีนเองตั้งแต่ระดับต้นน้ำโดยทีมนักวิจัยในประเทศแล้ว ยังมีการผลิตวัคซีนในประเทศที่ดำเนินการด้วยการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตวัคซีนในระดับโลก 

ดร.ทรงพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 ชนิด Adenoviral vector จากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ในฐานะผู้รับจ้างผลิต ได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินการว่า บริษัทฯ มีความสามารถในการรองรับการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการผลิต Recombinant protein โดยใช้ระบบการผลิตในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แบคทีเรียหรือยีสต์ ได้ตั้งแต่ระดับต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ 

ซึ่ง ดร.ทรงพล ได้เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญรวมถึงวิธีการในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากแอสตร้าเซนเนก้า และถ่ายทอดประสบการณ์สำคัญในการผลิตวัคซีนระดับอุตสาหกรรมในสถานการณ์ฉุกเฉินระดับโลก ทั้งนี้ ไม่ใช่เฉพาะวัคซีนสำเร็จรูปเท่านั้นที่ตลาดเป็นของผู้ขาย แต่วัตถุดิบที่ใช้ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน ดังนั้น ผู้ผลิตวัคซีนของทีมประเทศไทย จึงควรมีการวางแผนการใช้วัตถุดิบ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นนี้ด้วย 

ดร.ทรงพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้ทั้งนักวิจัยและผู้ผลิตวัคซีนในประเทศ ได้รับประสบการณ์จริง ในการผลิตวัคซีนในภาวะเร่งด่วน เป็นข้อดีที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ซึ่งต่อไปจะส่งผลดีต่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศในอนาคต

นพ.นคร กล่าวทิ้งท้ายว่า เรามีนักวิจัยด้านวัคซีนที่มีศักยภาพ ที่ได้สั่งสมบ่มเพาะความรู้และประสบการณ์มาเป็นระยะเวลานาน “วิกฤติโควิด-19 เป็นโอกาสให้เราได้รวบรวมเอาศักยภาพมาทำงานร่วมกันเป็นทีมประเทศไทย และเป็นโอกาสที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากรัฐบาลและทุกภาคส่วน ในการเดินหน้าวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ให้สำเร็จได้”


ที่มา : https://www.facebook.com/154755461366324/posts/1997047523803766/