1 ตุลาคม วันคล้ายวันสวรรคต “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 4

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ สมมติเทวาวงศ์พงษ์อิศรกษัตริย์" เสด็จพระราชสมภพวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ณ นิวาสสถานในพระราชนิเวศน์เดิม ด้านใต้ของวัดอรุณราชวราราม เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 43 และเป็นลำดับที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

เมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีโสกัณฑ์ จากนั้นทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่ 7 เดือน จึงลาผนวชเจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงศึกษาเล่าเรียนอักษรสยาม ตั้งแต่เมื่อครั้งประทับ ณ พระราชวังเดิมในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยาราม เมื่อพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระยะแรกทรงจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) ต่อมาได้เสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรม ทรงสอบได้ เปรียญ 5 ประโยค ทรงเชี่ยวชาญรอบรู้ในพระไตรปิฎก จากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย

ในขณะที่ทรงผนวชอยู่นั้น รัชกาลที่ 2 ได้เสด็จสวรรคต ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ได้ทูลเชิญ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ขึ้นเป็นรัชกาลที่ 3 ทั้ง ๆ ที่พระองค์มีสิทธิ์ในราชบัลลังก์อย่างพร้อมบูรณ์ ตามโบราณราชประเพณี พระองค์จึงตัดสินพระทัยผนวชเป็นภิกษุในผ้ากาสาวพัสตร์ต่อไป ขณะที่ทรงผนวชอยู่ได้ศึกษาภาษาอังกฤษจนสามารถพูดและเขียนได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์แรกในทวีปเอเชียที่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ นอกจากนี้ยังทรงศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมืองและศาสนา ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษได้ด้วยพระองค์เอง ทรงปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ให้เคร่งครัดขึ้น ทำให้เกิดพระสงฆ์คณะใหม่ขึ้น เรียกว่า ธรรมยุติกนิกาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เชิญเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ลาผนวช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ วิสุทธสมมติเทพยพงศ์วงษาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันบรมมหาจักรพรรดิราชสังกายบรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 47 พรรษา ทรงมีพระนามย่อว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

เมื่อ พ.ศ. 2411 พระองค์ทรงคำนวณว่าจะสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้ในประเทศสยาม ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์จึงโปรดให้ตั้งพลับพลาเพื่อเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ ซึ่งเมื่อถึงเวลาที่พระองค์ทรงคำนวณก็เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงดังที่ทรงได้คำนวณไว้ พระองค์เสด็จประทับอยู่ที่หว้ากอเป็นระยะเวลาประมาณ 9 วัน จึงเสด็จกลับกรุงเทพมหานคร ภายหลังการเสด็จกลับมายังพระนคร พระองค์เริ่มมีพระอาการประชวรจับไข้และทรงทราบว่าพระอาการประชวรของพระองค์ในครั้งนี้คงจะไม่หาย

วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2411 พระองค์มีพระบรมราชโองการให้หา พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ที่มีพระชนมายุมากกว่าพระองค์อื่น ๆ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่ในราชการ และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) อัครเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม หัวหน้าข้าราชการทั้งปวง เข้าเฝ้าพร้อมกันที่พระแท่นบรรทม โดยพระองค์มีพระบรมราชโองการมอบพระราชกิจในการดูแลพระนครแก่ทั้ง 3 ท่าน

หลังจากนั้น ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสสั่งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) และเจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก เข้าเฝ้าและมีพระราชดำรัสว่า

"ท่านทั้ง 3 กับพระองค์ได้ทำนุบำรุงประคับประคองกันมา บัดนี้กาละจะถึงพระองค์แล้ว ขอลาท่านทั้งหลายในวันนี้ ขอฝากพระราชโอรสธิดาอย่าให้มีภัยอันตราย หรือเป็นที่กีดขวางในการแผ่นดิน ถ้ามีผิดสิ่งไรเป็นข้อใหญ่ ขอแต่ชีวิตไว้ให้เป็นแต่โทษเนรเทศ ขอให้ท่านทั้ง 3 จงเป็นที่พึ่งแก่พระราชโอรสธิดาต่อไปด้วยเถิด"

พระองค์ตรัสขอให้ผู้ใหญ่ทั้ง 3 ท่านได้ช่วยกันดูแลบ้านเมืองต่อไป ให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่เอาธุระรับฎีกาของราษฎรผู้มีทุกข์ร้อนดังที่พระองค์เคยปฏิบัติมา โดยไม่ทรงเอ่ยว่าจะให้ผู้ใดขึ้นครองราชย์แทนพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์รับสั่งว่าเมื่อพระองค์ผนวชอยู่นั้น ทรงออกอุทานวาจาว่าวันใดเป็นวันพระราชสมภพก็อยากสวรรคตในวันนั้น โดยพระองค์พระราชสมภพในวันเพ็ญเดือน 11 ซึ่งเป็นวันมหาปวารณา เมื่อพระองค์จะสวรรคตก็ขอให้สวรรคตท่ามกลางสงฆ์ขณะที่พระสงฆ์กระทำวินัยกรรมมหาปวารณา

ในเวลา 20.06 นาฬิกา พระองค์ทรงภาวนาอรหังสัมมาสัมพุทโธแล้วผ่อนอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก) เป็นครั้งคราว จนกระทั่ง เวลา 21.05 นาฬิกา เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งภาณุมาศจำรูญ ภายในพระบรมมหาราชวัง สิริพระชนมพรรษา 64 พรรษา ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นระยะเวลา 17 ปี


ที่มา: เฟซบุ๊กชมรมประวัติศาสตร์ไทย 


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32