‘ตุรกี’ ซบ ‘รัสเซีย’ จับมือร่วมพันธมิตรเฉพาะกิจ เคลียร์ปัญหาใจในซีเรีย ดีดสหรัฐฯ ออกนอกวง

เมื่อวันพุธ 29 กันยายน 2021 ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เปิดรีสอร์ทหรูในเมืองโซชิ ต้อนรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของ ประธานาธิบดี ราเซป ไทยิป แอโดแกน ผู้นำตุรกี เป็นการพบหน้าหารือกันเป็นครั้งแรกในรอบ 18 เดือน และในครั้งนี้ถือเป็นการประชุมวาระพิเศษ ที่ทั้ง 2 ผู้นำจะทำข้อตกลงร่วมกันในหลายประเด็น ได้แก่ การซื้อระบบขีปนาวุธ S-400 เสริมกองทัพตุรกี และจับมือกันเพื่อสร้างเสถียรภาพในซีเรีย

หลังจากที่นัดคุยกันเป็นเวลานานกว่า 3 ชั่วโมง แม้จะไม่มีการให้รายละเอียดกับผู้สื่อข่าวถึงเนื้อหาการประชุม แต่เป็นการพบกันด้วยบรรยากาศที่ชื่นมื่น โดยประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวขอบคุณผู้นำตุรกีในการมาเยือนครั้งนี้ ที่ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นกันที่มีประโยชน์ร่วมกันอย่างมากมาย และจะมีการติดต่อกันเพิ่มเติมหลังจากนี้อีกแน่นอน 

เช่นเดียวกันกับประธานาธิบดีแอโดแกน ก็กล่าวว่าเป็นการพูดคุยอย่างมีเนื้อหาสาระจริงๆ และกล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย และตุรกี เริ่มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ การพูดคุยครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่ายก็จะประนีประนอมเข้าหากันเพื่อให้สามารถบรรลุผลประโยชน์ร่วมกันได้ในที่สุด

แต่ผลประโยชน์อะไรที่ทำให้ทั้งตุรกี และ รัสเซีย พยายามจับมือร่วมกันให้ได้ในวันนี้ 

คำตอบอาจอยู่ที่ "ซีเรีย" 

ซึ่งที่ผ่านมา ปมความขัดแย้งอย่างหนึ่งระหว่างตุรกี และ รัสเซีย ก็เกิดขึ้นที่ซีเรีย โดยเป็นที่รู้กันว่าฝ่ายรัสเซียสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลของประธานาธิบดี บาซาร์ อัล-อาซาด มาโดยตลอด ในขณะที่ตุรกีสนับสนุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และกองทัพของรัสเซีย ก็เคยปะทะกับฝ่ายกองทัพตุรกีในเมืองอิดลิบของซีเรียมาแล้ว

ถึงแม้จะมีความสัมพันธ์อันคลุมเครือ แต่ก็มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 ชาติมีความเห็นตรงกันคือ ไม่อยากให้สหรัฐอเมริกาเข้ามายุ่ง 

เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ส่งกองกำลังมาปักหลักในซีเรีย เพื่อสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล มาติดอาวุธ ฝึกรบให้ มานานหลายปี และในขณะเดียวกัน หนึ่งกองกำลังใต้ดินที่กองทัพสหรัฐให้การสนับสนุนมานานก็คือ กลุ่มนักรบแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด ที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลตุรกีเช่นกัน 

และด้วยการสนับสนุนของสหรัฐฯ ก็ทำให้ทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย และนักรบชาวเคิร์ดแข็งแกร่ง ที่กลายเป็นหอกข้างแคร่ทั้งกับรัสเซีย และตุรกี 

แต่ต่อมาในสมัยของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศนโยบายถอนทหารอเมริกันออกจากตะวันออกกลางที่ปักหลักในอัฟกานิสถาน อิรัก และซีเรีย ทั้งหมด ที่จะเป็นผลดีกับทั้งรัฐบาลซีเรีย รัสเซีย และตุรกีในทางอ้อมด้วย และถึงแม้ว่ารัสเซียจะไม่สามารถโน้มน้าวให้ตุรกีเปลี่ยนใจมาสนับสนุนรัฐบาลของอัล-อาซาดได้ แต่ถ้าแต่ละฝ่ายอยู่ในพื้นที่ตัวเอง ไม่มายุ่งกัน ก็พอจะสมานฉันท์กันได้ ซึ่งเป็นที่มาของการนัดคุยเปิดอกกันระหว่าง 2 ผู้นำในเมืองโซชิ ครั้งนี้

และหากไม่นับเรื่องศัตรูการเมืองในสนามรบแล้ว รัสเซีย-ตุรกี ก็มีความสัมพันธ์ในด้านอื่นที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ทั้งความร่วมมือด้านการค้า ด้านพลังงาน และการท่องเที่ยว ที่สร้างมูลค่าให้แก่ทั้ง 2 ประเทศหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี 

และล่าสุดก็มีข่าวว่า ตุรกีตัดสินใจเดินหน้าซื้อขีปนาวุธ S-400 จากรัสเซียเพิ่มเติมด้วย โดยไม่สนคำขู่ของสหรัฐฯ ที่จะคว่ำบาตรตุรกีหากติดอาวุธของรัสเซียในกองทัพ ซึ่งผู้นำตุรกีได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อสหรัฐฯ ว่า ตุรกีเป็นอิสระในการเลือกซื้ออาวุธป้องกันตนเองจากใครก็ได้ และจะไม่ยอมให้ชาติใดเข้ามาแทรกแซงการตัดสินใจของตุรกีเป็นอันขาด 

ดังนั้นการจับมือร่วมกันเฉพาะกิจของ รัสเซีย-ตุรกี อาจส่งผลถึงทิศทางดุลย์อำนาจในย่านตะวันออกกลาง ที่จะใช้สร้างอำนาจในการต่อรองกับชาติมหาอำนาจของโลกได้สมน้ำสมเนื้อกันมากขึ้น และยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เริ่มเปลี่ยนไประหว่างตุรกี กับสหรัฐอเมริกา ที่ดูเหมือนว่าจะถูกกันออกนอกวงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: Aljazeera / The Guardian