“บิ๊กบี้” สั่ง จัดชุด อส.กร. ดูแลเคียงข้างทุกพื้นที่กว่า 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ 

ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พ.ต.หญิง ปวีณา ศรีบัวชุม ผู้ช่วยโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า จากนโยบายของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ที่เน้นย้ำให้หน่วยทหารระดมทรัพยากรทั้งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในทุกสถานการณ์ กองทัพบก โดยกรมกิจการพลเรือนทหารบกจึงได้จัดให้มี อาสาสมัครกิจการพลเรือน (อส.กร.) ซึ่งเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ ปี 2563 ปัจจุบันมี อส.กร. รวมทั้งสิ้น 26,000 คน ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนใน 7,435 ตำบล (ตำบลละ 3 คน) และ ในปี 2565 ขยายการดูแลเป็น 75,000 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ ทั้งในส่วนภูมิภาค และในพื้นที่ชายแดน ทำหน้าที่ในการประสานงานกับหน่วยทหารในพื้นที่ เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารและสนับสนุนการดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการทหารพันธุ์ดี, การประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19, งานด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นต้น โดยผู้ที่รับหน้าที่เป็น อส.กร. นั้น เป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ, มีจิตอาสา,  มีความเสียสละ และร่วมเป็นเครือข่ายของกองทัพบกที่มุ่งปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนร่วมกับหน่วยทหาร 

ล่าสุดในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19  อส.กร. มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลชุมชน ร่วมกับ รพ.สังกัดกองทัพบก 37 แห่ง ทั่วประเทศ ในการลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค, รณรงค์การฉีดวัคซีน, การช่วยประสานการคัดแยกกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียวที่อยู่ในระบบการกักตัวในบ้าน (Home Isolation) และการกักตัวในชุมชน (Community Isolation) รวมทั้งช่วยประสานงานกับโรงพยาบาลในการช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงเมื่อมีอาการเร่งด่วนฉุกเฉินในชุมชนที่ตนเองรับผิดชอบอีกด้วย ทั้งนี้ อส.กร. ทุกคนได้ผ่านการฝึกการอบรมความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลตนเองในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อความปลอดภัยในขณะปฏิบัติภารกิจและสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ชุมชน เป็นการป้องกันชุมชนจากโรคโควิด-19 ได้อีกทางหนึ่ง 
 

นอกจากนี้ อส.กร. ยังมีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นจิตอาสาในกิจกรรมเพื่อส่วนรวม อาทิ เช่น การบริจาคโลหิตเพื่อเพิ่มปริมาณโลหิตสำรองให้กับโรงพยาบาล, การช่วยซ่อมแซมถนนชำรุดหรือพื้นที่ถนนและพื้นที่สาธารณะร่วมกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง, การช่วยปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุในชุมชน รวมทั้งการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลการกระทำผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ ให้กับฝ่ายปกครองหรือหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ชายแดนที่เน้นการสกัดกั้นการลักลอบขนค้ายาเสพติดและการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เป็นต้น

การปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประชาชนของ อส.กร. เหล่านี้ล้วนมาจากความเสียสละทั้งแรงกายแรงใจ เสียสละเวลา และอุทิศตนเพื่อดูแลช่วยเหลือชุมชนเป็นผู้ประสานงานและเป็นเครือข่ายภาคประชาชนซึ่งกองทัพบกเห็นความสำคัญในความร่วมมือจากดังกล่าวอันสะท้อนถึงความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจในการฝ่าฟันวิกฤตต่างๆรวมทั้งการสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติในภาพรวมต่อไป