'เอเวอร์แกรนด์’ อาจเป็น 'เลห์แมน บราเธอร์ส' ของจีน หลังส่อผิดนัดชำระหนี้ ลุกลามซับไพรม์ครั้งใหม่
'เอเวอร์แกรนด์' (Evergrande) ยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์จีน ส่อผิดนัดชำระหนี้ จุดชนวนวิกฤตซับไพรม์ระลอกใหม่แห่งเอเชีย (วิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ)
เอเวอร์แกรนด์ หรือ 'ไชน่าเอเวอร์แกรนด์' เป็นหนึ่งในบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน และเป็นหนึ่งในผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของโลกเลยก็ว่าได้ โดยมีนักธุรกิจวัย 62 ปี อย่าง 'ซูเจี้ยอิน' (Xu Jiayin) ที่ได้รับการจัดอันดับความรวยจากฟอร์บส์เป็นลำดับที่ 31 ของโลก และอันดับ 5 ในประเทศจีนกุมบังเหียนอยู่
โดยบริษัทแห่งนี้ มีการดำเนินธุรกิจโครงการมากกว่า 1,300 โครงการ ในกว่า 280 เมือง เป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศจีนและติดอันดับหนึ่งใน 150 บริษัท ชั้นนำของโลกเมื่อพิจารณาจากรายได้ จากข้อมูลของ Fortune 500 บริษัทมีพนักงานมากกว่า 123,000 คน และมีรายได้รวม 7.35 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2020
>> แต่ดูเหมือนตอนนี้ ภาพคู่ขนานของการเติบโตนั้น ค่อย ๆ หลุดออกมาให้เห็นว่า ล้วนเกิดขึ้นจากการขยายตัวจากการ 'ก่อหนี้' ทั้งสิ้น!!
ที่น่ากังวล คือ หนี้เหล่านี้จะได้รับการชำระตามนัดหรือไม่? เพราะข่าวการประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานเอเวอร์แกรนด์เรียลเอสเตทกรุ๊ป (Evergrande Real Estate Group) ของ Xu Jia Yin เมื่อวันอังคารที่ 17 สิงหาคม 64 สะท้อนถึงการสละเรือได้ชัด
สภาพของ เอเวอร์แกรนด์ ในขณะนี้ อยู่ในสภาพเอกชนที่มีเป็นหนี้สินมากที่สุดในโลก หลังมีการไล่ซื้อกิจการต่าง ๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และหากยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์แห่งนี้ผิดนัดชำระหนี้และก่อให้เกิดความเสี่ยงในวงกว้างต่อระบบการเงินของจีน
โดยหนี้สินของกลุ่มบริษัทที่ถูกประเมินในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีหนี้สินรวมเพิ่มขึ้นราว 3.56 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 1.97 ล้านล้านหยวน (ราว 10 ล้านล้านบาท)
>> เอเวอร์แกรนด์ ทำธุรกิจอะไรบ้าง?
ในขณะที่กิจการส่วนใหญ่ของเอเวอร์แกรนด์เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทได้เริ่มดำเนินการกระจายความเสี่ยงทั้งหมดไปยังกิจการนอกกลุ่ม ตั้งแต่ การเข้าซื้อสโมสรฟุตบอลกว่างโจว เอฟซี (เดิมคือกวางโจว เอเวอร์แกรนด์)
การเข้าไปในอุตสาหกรรมอาหารเครื่องดื่ม มีทั้งกิจการน้ำแร่และอาหารที่กำลังเฟื่องฟูด้วยแบรนด์ Evergrande Spring
การสร้างสวนสนุกสำหรับเด็ก ซึ่ง 'มโหฬาร' กว่าของค่ายคู่แข่งอย่าง 'ดิสนีย์'
นอกจากนี้ ยังได้ลงทุนในภาคการท่องเที่ยว ดิจิทัล อินเทอร์เน็ต ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพ และกิจการประกันภัย รวมทั้งลงทุนกิจการรถยนต์ไฟฟ้า (Evergrande Auto) ในปี 2019 (ทั้งที่ไม่ได้เคยทำการตลาดยานพาหนะใด ๆ เลย)
....แล้วการล้มของเอเวอร์แกรนด์จะมีนัยยะสำคัญกับเศรษฐกิจจีนและเชื่อมโยงกับตลาดโลกบ้าง?
ก่อนหน้านี้บรรดานักวิเคราะห์ในปักกิ่ง ได้ตั้งฉายาเรียกกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีหนี้สินและความเสี่ยงทางการเงินมหาศาล แต่ผู้รับผิดชอบมองไม่เห็นสัญญาณ หรือเห็นแต่คิดว่าไม่สำคัญ ว่าเป็น 'แรดสีเทา' และ 'ไชน่า เอเวอร์แกรนด์' เคยถูกพูดถึงหลายครั้งว่าเป็น 'แรดสีเทาตัวยักษ์ของจีน'
เพราะวิกฤตหนี้สินทั่วโลกของ เอเวอร์แกรนด์ ที่มีมากกว่า 3.56 แสนล้านดอลลาร์นั้น กำลังจะทำให้มูลค่าพันธบัตร ที่บริษัทปั้นออกมาในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กลายเป็นพันธบัตรขยะที่นักลงทุนเพียงไม่กี่รายต้องการถือในตอนนี้
ฮิลลาร์ด แม็คเบธ ผู้เขียน When the Bubble Bursts ได้โพสต์ไว้ในบล็อกของ Richardson Wealth ว่า "ปัจจุบันพันธบัตรเอเวอร์แกรนด์ ที่จะครบกำหนดในปี 2568 นั้น มีราคาซื้อขายต่ำกว่า 40 เซนต์ ซึ่งหมายความว่า มีโอกาสน้อยมากที่เอเวอร์แกรนด์จะสามารถชำระหนี้ครั้งนี้ได้”
สถานการณ์ของเอเวอร์แกรนด์เริ่มไม่สู้ดีและถูกฟ้องร้องชำระหนี้มาต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 'ธนาคาร ไชน่ากวงฝ่า' (China Guangfa Bank Co) ชนะคดีอายัดเงินฝากของเอเวอร์แกรนด์ได้ราว 20 ล้านดอลลาร์ แต่นั่นเป็นเพียงหยดน้ำในมหาสมุทรหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์
ไม่กี่วันต่อมา ซัพพลายเออร์ของเอเวอร์แกรนด์ พากันเริ่มฟ้องร้องคดีเบี้ยวหนี้ ซึ่งรวมถึง Huaibei Mining Holdings Co ที่ฟ้องเรียกหนี้ค้างชำระจากเอเวอร์แกรนด์ 84 ล้านดอลลาร์ ฯลฯ
นอกจากนี้ สำนักงานที่ดิน เมืองหลานโจวยังได้เปิดเผยต่อสาธารณชนว่าเอเวอร์แกรนด์ ก็ค้างหนี้เช่นกัน
>> เลห์แมน บราเธอร์ส ของจีน!!
สรุปโดยภาพรวมแล้ว มีโอกาสสูงที่ ไชน่าเอเวอร์แกรนด์ จะมีสภาพเหมือน 'เลห์แมน บราเธอร์ส' (Lehman Brother) วาณิชธนกิจระดับโลกที่ได้ประกาศล้มละลายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา ก่อวิกฤตซับไพร์ม (15 ก.ย. 2008) จนส่งผลกระทบไปทั่วโลก หลังขาดทุนมหาศาลจากการลงทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์
บรรดานักวิเคราะห์มองว่า มีสาเหตุที่คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นกับ เอเวอร์แกรนด์ คือ การกู้มาลงทุน ซึ่งเป็นการเติบโตด้วยหนี้ล้วน ๆ โดยทุกอย่างเริ่มต้นในช่วงเวลาตลาดขาขึ้น ความโลภเริ่มเข้าครอบงำ
การขยายตัวอย่างรวดเร็ว แต่ขาดความระมัดระวังต่อแผนการลงทุน ประมาทไปว่าช่วงแรกคือช่วงที่อะไร ๆ ก็ดูดีไปหมด จนเมื่อขาดทุน ขาดสภาพคล่อง เงินสดยังแทบไม่มี
ฉะนั้นการเติบโตอย่างบ้าคลั่งด้วยหนี้จำนวนมากนี้ ทำให้ เอเวอร์แกรนด์ กลายเป็น 'อาคารที่โยกเยก' ใต้หนี้ 3 แสนล้านเหรียญ ที่พร้อมเป็นหนี้ขยะใต้ดินให้กับคู่สัญญาจีน (และทั่วโลก/อาจรวมถึงตลาดคริปโทเคอร์เรนซี)
...และว่ากันว่าหนี้มหาศาลเช่นนี้ คงมีแต่รัฐบาลจีนเท่านั้น ที่สามารถอุ้มมันได้!!
จากปัญหาหนี้สินของเอเวอร์แกรนด์และโอกาสผิดนัดชำระหนี้สูง ได้ทำให้สถานะของบริษัทถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็น 'CC' จาก 'CCC+' จากหน่วยงานจัดอันดับอย่างฟิทช์ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา