ใครที่ชอบการออกกำลังกายที่ใช้แรงกำลังช่วงขามาก ๆ อาจจะต้องพึงระวังถึงการบาดเจ็บของ “เอ็นหัวเข่า” เพราะการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกเช่นการกระโดดหรือการวิ่ง หลาย ๆ คนอาจจะไม่ได้ให้สำคัญตรงบริเวณหัวเข่าอาจทำให้เกิด “เอ็นหัวเข่าอักเสบ” ขึ้นได้
คนที่มีปัญหาน้ำหนักเกินส่วนใหญ่มักเผชิญกับปัญหาการเจ็บเข่าแบบเป็น ๆ หาย ๆ ยิ่งพยายามออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักกลับยิ่งทำให้เจ็บเข่ามากยิ่งขึ้น เป็นปัญหาวนไปวนมาไม่จบสิ้น จนมีคำถามผุดขึ้นมาในใจว่า เอ๊ะ! หรือฉันกำลังเป็นโรค "เข่าเสื่อม" ??
การมีน้ำหนักเกินมาตรฐานเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของโรคข้อเข่าเสื่อม แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น โรคที่เกี่ยวกับหัวเข่ายอดฮิตที่พบได้มากในกลุ่มวัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน คือ "เอ็นหัวเข่าอักเสบ"
“เอ็นหัวเข่าอักเสบ” มักเกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทก เช่น การกระโดด และ การวิ่ง แม้แต่การออกกำลังกายที่มีการขยับไปมาของข้อเข่ามาก ๆ เช่น การปั่นจักรยาน ก็ยังพบอาการเอ็นหัวเข่าอักเสบได้เช่นกัน นอกจากนี้อุบัติเหตุพลัดตก หกล้ม หรือเดินขาพลิกผิดจังหวะต่าง ๆ ก็นำมาซึ่งปัญหาเอ็นหัวเข่าอักเสบได้
เอ็นกล้ามเนื้อหัวเข่า (tendon) ที่มักเกิดการอักเสบ ได้แก่ ส่วนปลายของกล้ามเนื้อหน้าขา (Quadriceps) และกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstrings: Biceps femoris, Semimembranosus, Semitendinosus) ส่วนปลายของกล้ามเนื้อนี้จะไปเกาะกับส่วนหนึ่งของกระดูกบริเวณหัวเข่า (tibia & fibula) จึงเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย เมื่อมีการเคลื่อนไหวของข้อเข่าที่มากเกินไปหรือมีแรงกระแทกซ้ำ ๆ การบาดเจ็บของเอ็นหัวเข่านี้จึงมักเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปสะสมจนมีการปวดเรื้อรัง
เอ็นกล้ามเนื้อ (tendon) มีหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อและกระดูก ช่วยในการออกแรงเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของข้อเข่า
นอกจากนี้หากมีแรงกระแทกมาก ๆ ร่วมกับการบิดหมุนของข้อเข่า เช่น อุบัติเหตุจากการเล่นกีฬา อาจจะทำให้เอ็นกระดูก (Ligament) ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างกระดูกหัวเข่าแต่ละชิ้น ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งการบาดเจ็บลักษณะนี้มักเกิดขึ้นแบบฉับพลันทันที
เอ็นกระดูก (Ligament) เป็นส่วนที่เชื่อมระหว่างกระดูกแต่ละชิ้น มีความแข็งแรงมาก มีหน้าที่เพิ่มความมั่นคงและแข็งแรงของข้อเข่า
อาการของเอ็นเข่าอักเสบ
>> เจ็บด้านหน้าหรือด้านหลังเข่าบริเวณข้อพับ บางคนเจ็บเข่าด้านในหรือด้านนอก ขณะยืน เดิน ขึ้น ลงบันไดหรือพื้นลาดชัน บางคนเจ็บมากตอนเริ่มต้นเหยียดขาลุกขึ้นยืน
>> อาการอักเสบ บางครั้งอาจรู้สึกอุ่น ๆ หรือมีอาการแดงที่บริเวณที่ปวดร่วมด้วย
>> มีอาการบวมของถุงน้ำรอบ ๆ ข้อเข่าร่วมด้วยได้ในบางกรณี
>> อาการเอ็นอักเสบส่วนใหญ่มักดีขึ้นเองภายใน 2-3 วัน ด้วยการพักและดูแลรักษาตนเอง แต่หากพบว่ายังคงมีอาการรุนแรงต่อเนื่อง กระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันเป็นเวลานานกว่านั้น อาจมีภาวะเอ็นกล้ามเนื้อฉีกขาด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
>> หากมีการบาดเจ็บที่เอ็นกระดูกหรือเอ็นกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ เรื้อรังโดยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่ปัญหาข้อเข่าเสื่อมได้เร็วขึ้น
การรักษาเส้นเอ็นเข่าอักเสบ
>> หยุดพักกิจกรรมที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวข้อเข่าจนกว่าอาการอักเสบจะดีขึ้น
>> ประคบด้วยความเย็นนาน 20 นาทีเพื่อช่วยลดปวดและลดอักเสบ
>> การทำกายภาพบำบัดเป็นวิธีบำบัดรักษาโดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย เพื่อช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงของเอ็นข้อเข่าที่อักเสบ รวมถึงกล้ามเนื้อบริเวณรอบ ๆ รวมทั้งการตรวจประเมินการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เช่น การทรงตัวของขา เป็นต้น
>> เมื่ออาการปวดและบวมลดลงแล้ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติและหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักในช่วงแรก
ท่ากายบริหารที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพก และเอ็นรอบหัวเข่าจะช่วยลดโอกาสการบาดเจ็บของเอ็นรอบหัวเข่าได้ ดังนี้
1.) Squat ยืนกางขากว้างเท่าระดับไหล่ หลังตรง เกร็งหน้าท้องเล็กน้อย งอเข่าพร้อมแอ่นก้นไปทางด้านหลัง ระวังอย่าให้ระดับหัวเข่าเลยปลายเท้า แล้วยืดตัวขึ้นตามเดิม ทำวันละประมาณ 10-15 ครั้ง วันละ 3 รอบ
2.) Lunge ยืนตรง ก้าวขาไปด้านหน้า 1 ก้าว ย่อเข่าทั้ง 2 ข้าง เป็นมุมฉาก ทรงตัวให้น้ำหนักอยู่ตรงกลาง แล้วยืดตัวขึ้นตามเดิม ทำสลับขาทั้ง 2 ข้าง ทำข้างละประมาณ 10-15 ครั้งต่อรอบ วันละ 3 รอบ
3.) Clam shell นอนตะแคง สวมยางยืดแบบวงไว้ระหว่างหัวเข่าทั้ง 2 ข้าง ออกแรงกางหัวเข่าแบบเปิดสะโพกออกสู้กับแรงตึงของยางยืด จากนั้นผ่อนแรงกลับสู่ท่าปกติ ทำสลับขาทั้ง 2 ข้าง ทำข้างละประมาณ 10-15 ครั้งต่อรอบ วันละ 3 รอบ
นอกจากนี้การฝึกฝนความคล่องแคล่วและการทรงตัวก็จะมีส่วนช่วยให้เอ็นหัวเข่ามีความแข็งแรงและบาดเจ็บได้ยากขึ้นเช่นกัน แต่การฝึกดังกล่าวควรทำเมื่อไม่มีอาการบาดเจ็บแล้วเท่านั้น เช่น การเดินสไลด์ไปทางด้านข้าง การวิ่งเหยาะ ๆ ไปด้านหน้าและหลัง การยืนทรงตัวด้วยขาข้างเดียว เป็นต้น
.
เขียนโดย: กภ.อุสา บุญเพ็ญ ปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต พัฒนาการมนุษย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของคลินิกกายภาพบำบัด และเพจสุขภาพดี
เอกสารอ้างอิง
https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/quadriceps-tendon-tear/
http://physio4richmond.co.uk/news/hamstring-tendinopathy-in-runners/
https://www.physio-pedia.com/File:Quadriceps_muscle.jpg
https://www.impactphysicaltherapy.com/4-tips-to-prevent-an-anterior-cruciate-ligament-acl-injury/
https://cbphysicaltherapy.com/how-to-perform-a-perfect-squat/
https://www.123rf.com/photo_124593050_woman-making-lunges-doing-sport-exercises-in-gym-leg-workout-muscle-building-healthy-and-active-life.html?vti=o1wiboi1ylu3gw7v4z-1-1
https://www.fitwirr.com/exercise/mini-band-clamshell-exercise/