ทำไมถึงต้องตรวจภายใน? หลาย ๆ คนอาจจะมีความกลัวในการตรวจ แต่ถ้าไม่ตรวจ เราจะไม่รู้เลยว่า เราอาจมีความเสี่ยงในโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะภายในของเรา!!

สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับป้าหมึกแสนซนคนน่ารักอีกเช่นเคยนะคะ วันนี้ป้าก็มีเรื่องมาเล่าอีกเช่นเคย หลาย ๆ คนอาจรู้สึกว่าช่วงนี้เราต้องระวังโรคโควิด-19 กัน ป้าก็ขอให้ทุกคนดูแลสุขภาพด้วยนะคะ นอกจากโรคโควิดที่เราต้องคอยเฝ้าระวังกันแล้ว เหล่าหญิงน้อย หญิงใหญ่ อาจจะต้องมีเรื่องที่ควรใส่ใจกันมากขึ้นกว่าเดิม นั่นก็คือเรื่องปัญหาภายใน ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรระวังกันมาก ๆ เลยนะคะ อาจจะเคยได้ยินคำว่า “การตรวจภายใน” กันมาบ้างแล้ว แต่หลาย ๆ คนก็ยังกล้า ๆ กลัว ๆ วันนี้ป้าจะขอมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังกันค่ะ 

การตรวจภายใน คือ การตรวจอวัยวะในอุ้งเชิงกรานของสตรีทั้งภายนอกและภายใน ได้แก่ อวัยวะเพศภายนอก, ช่องคลอด, ปากมดลูก, มดลูก, ปีกมดลูก, รังไข่ และเนื้อเยื่อที่อยู่รอบ ๆ อวัยวะที่ป้าได้กล่าวมาค่ะ 

เสี่ยงในโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะภายในของเรา เพราะอวัยวะภายในของผู้หญิงมีความซับซ้อนและเป็นระบบปิด ซึ่งอาจถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอก และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์และการคลอด และยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและความผิดปกติต่าง ๆ ภายในอวัยวะสืบพันธุ์ได้อีกด้วย อย่างเช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ น่ากลัวมาก ๆ เลยล่ะค่ะ 

ส่วนอาการที่ควรรีบมาตรวจภายในกัน ป้าได้ไปอ่านข้อมูลและขอสรุปตามนี้นะคะ 

- มีอาการเลือดออกผิดปกติบริเวณอวัยวะเพศ เช่น เลือดออกกะปริบกะปรอย, ปริมาณมาก มีลิ่มเลือดปน, ประจำเดือนมานานมากกว่า 7 วัน ระยะรอบประจำเดือนมาห่างน้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 35 วัน, มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด

- มีอาการตกขาวปริมาณมากขึ้น สีเปลี่ยนไป เช่น สีเขียว, สีเหลือง มีกลิ่นแรงขึ้น ลักษณะเปลี่ยนไปเป็นลักษณะมูกสีขาวข้นคล้ายแป้ง

- มีอาการปวดท้องน้อย ทั้งที่สัมพันธ์กับช่วงมีระดูหรือไม่มีระดู, ปวดหน่วงท้องน้อย

- พบผื่น, ติ่งเนื้อที่อวัยวะเพศภายนอก, แสบขัดในช่องคลอด

- คลำพบก้อนที่ท้องน้อย

โดยส่วนตัวป้า ถ้าเกิดเราไม่มีอาการขั้นต้นก็อยากให้ผู้หญิงมาตรวจภายในกันมากขึ้น ถ้าเริ่มโตขึ้นเป็นวัยรุ่นก็มาตรวจได้แล้วค่ะ เพราะการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหาร ในปัจจุบันก็ส่งผลให้ร่างกายของเรามีการปรับเปลี่ยน และอาจจะเกิดโรคได้ง่ายขึ้นนะคะ

ส่วนการเตรียมตัวตรวจภายในก็มีวิธีง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ 

1.) งดมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการใช้ยาเหน็บในช่องคลอด หรือสวนล้างช่องคลอด ก่อนเข้ารับการตรวจประมาณ 24-48 ชั่วโมง

2.) หลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน และควรรอให้ประจำเดือนหมดสนิท 2-3 วัน หรือก่อนที่จะมีประจำเดือนในรอบถัดไปประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะมาตรวจ เพราะการตรวจในช่วงที่มีประจำเดือนจะทำได้ยาก และอาจทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้ แต่หากมีเลือดออกทางช่องคลอดทุกวัน สามารถพบแพทย์เพื่อตรวจภายในได้เลย ไม่ต้องรอเลือดหยุด 

3.) ควรปัสสาวะออกให้หมด แพทย์จะได้คลำขนาดมดลูกและปีกมดลูกได้

4.) ไม่ปิดบังข้อมูลกับแพทย์ เช่น เป็นโสดแต่อาจมีเพศสัมพันธ์ วิธีการที่ใช้ในการคุมกำเนิด การทำแท้ง หรืออาการผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ รวมถึงประวัติการแพ้ยา 

เมื่อเราเตรียมพร้อมที่จะตรวจภายในแล้ว ขั้นตอนการตรวจภายในคร่าว ๆ ก็จะมีประมาณนี้ค่ะ

1.) ขึ้นนอนบนเตียงที่ออกแบบมาเพื่อตรวจภายในโดยเฉพาะ โดยจะมีที่รองขาหรือที่เรียก”ขาหยั่ง” เพื่อแยกขาให้ออกจากกัน ทำให้เห็นอวัยวะสืบพันธุ์ได้ชัดเจน

2.) คุณหมอจะใช้น้ำยาทำความสะอาดบริเวณปากช่องคลอด แล้วใช้ผ้าสะอาดคลุมบริเวณขาทั้ง 2 ข้างและหน้าท้องส่วนล่าง เหลือเปิดไว้เฉพาะบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์

3.) คุณหมอก็จะเริ่มจากการตรวจดูบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ และอาจต้องใช้มือคลำว่ามีก้อนเนื้องอกบริเวณปากช่องคลอดด้วยหรือไม่

4.) จากนั้นใช้เครื่องมือถ่างขยายปากช่องคลอด ซึ่งทำด้วยเหล็กใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อตรวจดูภายในว่ามีแผล มูกเลือดที่ปากมดลูกหรือช่องคลอดหรือไม่ รวมทั้งจะได้เช็คมะเร็งปากมดลูกไปด้วย 

5.) และปิดท้ายด้วยการสอดนิ้วมือของมือข้างหนึ่งเข้าไปในช่องคลอด และใช้นิ้วของมืออีกข้างหนึ่งกดที่หน้าท้องโดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย แล้วใช้มือทั้ง 2 ข้างร่วมกันในการคลำอวัยวะในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็นมดลูกหรือรังไข่ว่าโตผิดปกติไหม กดเจ็บไหม มีถุงน้ำหรือเนื้องอกหรือเปล่า เพียงเท่านี้ก็เสร็จแล้วค่ะ
 

เพียงเท่านี้ก็ตรวจภายในเสร็จเรียบร้อย และคุณหมอก็จะวินิจฉัยอาการ รวมไปถึงความเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้เรารู้ว่าควรปรับตัวในการใช้ชีวิตอย่างไร เราจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงต่อไปค่ะ 

และที่สำคัญตอนนี้ในแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ในตัวแอปก็จะมีกระเป๋าสุขภาพ หรือ Health Wallet โดยที่เราสามารถลงทะเบียนเพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้นะคะ สามาถเข้าไปศึกษาดูได้ในแอปพลิเคชั่นเป๋าตังค่ะ 

 

ยังไงก็ขอให้หญิงน้อย หญิงใหญ่ ดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ ไปตรวจภายในกันเถอะค่ะ ถ้าตรวจแล้วเจอจะได้รับการรักษาได้ทัน ขอให้ผู้อ่านสุขภาพแข็งแรงนะคะ แล้วพบกันใหม่ Have a nice day (: 
.
เขียนโดย: ป้าหมึกอยากเล่า หญิงใหญ่แห่งท้องทะเล ผู้สรรหาความรู้ในเรื่องที่อยากเล่า


แหล่งข้อมูล 
https://www.princsuvarnabhumi.com/แบบไหนที่ควรตรวจภายใน/
https://www.thonburihospital.com/การตรวจภายในสำคัญอย่างไร.html
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=743
https://www.vichaiyut.com/th/health/diseases-treatment/ivf/ตรวจภายในครั้งแรก-ป้องก/