วันนี้เมื่อ 212 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสู่สวรรคาลัย 

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน 4 แรม 5 ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก เวลา 3 ยาม ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2279 ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ขณะมีพระชนมายุได้ 46 พรรษา

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง โดยในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์เป็นบุตรคนที่ 4 ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) ซึ่งต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก กับพระอัครชายา (หยก)

ได้เข้ารับราชการและได้ดำรงตำแหน่ง "พระยายมราช" ภายหลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ทรงเข้าร่วมกับกองทัพกู้ชาติของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น "เจ้าพระยาจักรี" และเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกฯ" 

ภายหลังจากพระเจ้าตากสินฯ สถาปนากรุงธนบุรีจนเริ่มเป็นปึกแผ่นแล้ว ในปี พ.ศ. 2324 ก็ได้เกิดการจลาจลคือ พระยาสรรค์ กับพวกได้ก่อกบฏยกพลเข้ามาในกรุงธนบุรี จับกุมพระเจ้าตากสินฯ และพระบรมวงศานุวงศ์รวมทั้งข้าราชการผู้ใหญ่อื่น

เมื่อเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกซึ่งกำลังไปทำศึกที่เมืองเขมรได้ทราบข่าวก็ยกทัพกลับมาที่กรุงธนบุรี จับกุมตัวพระยาสรรค์ พระเจ้าตากสินฯ และข้าราชการฝ่ายที่คิดกบฎทั้งหมดนำไปสังหารและสำเร็จโทษ จากนั้นก็เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 

ทั้งยังทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร หรือกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี และทรงมีพระราชกรณีกิจที่สำคัญยิ่ง คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่าใน พ.ศ. 2328 ที่เรียกว่า "สงครามเก้าทัพ" 

นอกจากนี้พระองค์ยังพบว่ากฎหมายบางฉบับที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีความยุติธรรม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่ทั้งหมด เสร็จแล้วให้เขียนเป็นฉบับหลวง 3 ฉบับ ประทับตราราชสีห์ คชสีห์ และบัวแก้วไว้ทุกฉบับ เรียกว่า "กฎหมายตราสามดวง" สำหรับใช้เป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง

โดยพระองค์ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2352 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ หลังจากทรงประชวรด้วยพระโรคชราและอาการทรุดลงเรื่อย ๆ รวมพระชนมพรรษาได้ 73 พรรษา เสด็จอยู่ในราชสมบัติทั้งสิ้น 27 ปี 

โดยพระบรมศพถูกเชิญลงสู่พระลองเงินประกอบด้วยพระโกศทองใหญ่แล้วเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ตั้งเครื่องสูงและเครื่องราชูปโภคเฉลิมพระเกียรติยศตามโบราณราชประเพณี 

พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม โคมกลองชนะตามเวลา ดังเช่นงานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาทุกประการ จนกระทั่ง พ.ศ. 2354 พระเมรุมาศซึ่งสร้างตามแบบพระเมรุมาศสำหรับพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยาได้สร้างแล้วเสร็จ จึงเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้นประดิษฐาน ณ พระเมรุมาศ แล้วจักให้มีการสมโภชพระบรมศพเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน จึงถวายพระเพลิงพระบรมศพ หลังจากนั้น มีการสมโภชพระบรมอัฐิและบำเพ็ญพระราชกุศล เมื่อแล้วเสร็จจึงเชิญพระบรมอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร ภายในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญไปลอยบริเวณหน้าวัดปทุมคงคาราชวรวิหาร


Q : ประกันอะไร? ได้ตั้ง 4 ต่อ!!
A : ก็ประกันภัยรถยนต์จาก @THESHOPTIMES ไง!! 
>> ฟรี!!! ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) 100,000 บาท
>> รับคอมมิชชั่นหรือส่วนลดทันที ในอัตราที่สูงกว่า แถมได้สิทธิซื้อประกัน พ.ร.บ.ราคาถูกตลอดชีพ
>> สามารถผ่อนได้สูงสุด 6 งวด ดอกเบี้ย 0% โดยไม่ต้องใช้บัตรเครดิต
>> แถมขายดีมีรายได้เพิ่มให้กับตัวเองด้วย
***สนใจติดต่อ Line@ THE SHOPS TIMES คลิก???? https://lin.ee/vfTXud9