‘พิพิธภัณฑ์หัวโขน สวนนงนุชพัทยา’ แห่งแรกของโลก! ที่รวบรวมหัวโขนไว้มากที่สุด 506 เศียร

ตามปณิธานของ คุณนงนุช ตันสัจจา ที่ได้ตั้งใจไว้ในเรื่องที่เกี่ยวกับการสืบทอดงานศิลปกรรมไทย เพื่อเป็นมรดกของแผ่นดินไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษา ต่อมาคุณกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา จึงได้ทำการรวบรวมงานศิลปกรรมไทยไว้ที่สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี อีกหนึ่งแขนงคือหัวโขน โดยจัดสร้างพิพิธภัณฑ์หัวโขนขึ้น ซึ่งภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วย ห้องโถงจัดแสดง เป็นที่ตั้งของตู้หัวโขน จำนวน 121 ตู้ ห้องสาธิตงานผลิตหัวโขน, ห้องเขียนลาย และตกแต่งหัวโขน, โดยเริ่มดำเนินการสร้างมาตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 จนถึงปัจจุบัน

สวนนงนุชพัทยา สร้างพิพิธภัณฑ์หัวโขนขึ้น เพื่อแสดงงานศิลปกรรมไทยชั้นสูง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของโลก ที่มีการรวบรวมหัวโขนไว้มากที่สุด จำนวน 506 เศียร โดยได้แบ่ง ออกเป็น 3 ชุด ดังนี้

1.หัวโขนชุดอนุรักษ์แบบโบราณ   จำนวน 24  เศียร 

2.หัวโขนบรมครู ฤษี  จำนวน 108 พระองค์

3. หัวโขนรามเกียรติ์   จำนวน 374  เศียร

ซึ่งหัวโขนทั้งหมด จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เพื่อรอให้นักเรียน,นักศึกษา,นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและได้รับอนุญาตให้เปิดบริการตามปกติ 

ทั้งนี้ เมื่อโครงการจัดทำหัวโขนแล้วเสร็จ โครงการต่อไปทางสวนนงนุชพัทยา จะทำหุ่นกระบอกไทย ตามเรื่องในพระราชนิพนธ์,วรรณคดีไทย และนิทานพื้นบ้าน สำหรับในงานหุ่นกระบอกนี้ จะใช้ทักษะของงานหัวโขน แต่มีขนาดเล็กและส่วนประกอบที่สำคัญคือ งานปักสะดึงกลึงไหม ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของหุ่น มาเป็นจุดขาย


ภาพ/ข่าว  นิราช / นันทพล ทิพย์ศรี ก012 ชลบุรี