จีนออกคำสั่งเฉียบขาด!! หั่นชั่วโมงเล่นเกมเด็กจีนเหลือเพียง 1 ชั่วโมงต่อวัน เฉพาะสุดสัปดาห์ สกัดโรคติดเกม ละลายชั่วโมงครอบครัวบนโลกเสมือน

รัฐบาลจีนได้ออกคำสั่งตรงถึงผู้ให้บริการเกมออนไลน์ในจีน จำกัดการเข้าถึงของผู้เล่นเกมที่เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ให้สามารถล็อคอินเล่นเกมได้ในช่วงเวลา 20.00 - 21.00 น. เฉพาะวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์เท่านั้น ซึ่งเท่ากับว่าเด็กจีนสามารถเล่นเกมออนไลน์ได้เพียง 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนมีนโยบายจำกัดการเล่นเกมออนไลน์ของเยาวชน เมื่อปี 2019 จีนได้ออกระเบียบที่ระบุว่าเยาวชนไม่ควรเล่นเกมเกินวันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อป้องกันปัญหาการติดเกมในเยาวชน ที่เปรียบเหมือนกับการติดยาเสพติดทางจิตใจที่จะส่งผลเสียต่อเด็กทั้งทางสุขภาพกาย และสุขภาพจิตอย่างมากในอนาคต

นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังระบุว่า ผู้สมัครใช้บริการเกมออนไลน์ จะต้องลงทะเบียนด้วยชื่อจริง และข้อมูลจริงเท่านั้น และจำกัดวงเงินในการเติมเกมสำหรับผู้เล่นเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี ใช้ได้ไม่เกิน 200 หยวนต่อเดือน หากอายุ 16-18 ปีใช้ได้ไม่เกิน 400 หยวนต่อเดือน โดยทางการจีนจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบระบบผู้ให้บริการออนไลน์อยู่เสมอเพื่อให้มั่นใจว่า มาตรการใหม่นี้จะมีการบังคับใช้จริงอย่างเคร่งครัด

มาคราวนี้มีการยกระดับให้เข้มยิ่งกว่าเดิม จำกัดช่วงเวลา เหลือเพียง 1 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า คำสั่งของรัฐบาลจีนนี้มีผลกระทบกับผู้ให้บริการเกมออนไลน์ รายใหญ่ของจีนอย่าง Tencent และ NetEase ที่มีข่าวว่าหุ้นร่วงลงทันทีที่รัฐบาลจีนออกมาตรการจำกัดการเล่นของผู้ใช้งานกลุ่มเยาวชน ที่มีมากกว่า 110 ล้านคนทั่วประเทศ และที่สำคัญ จีนมีตลาดเกมออนไลน์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น

จึงไม่แปลกที่นโยบายการจำกัดชั่วโมงเล่นเกมออนไลน์ของเด็กจีน ถูกโยงไปถึงนโยบายของรัฐบาลจีน ที่ต้องการตัดตอนบริษัทผู้ให้บริการเทคโนโลยี ที่มีเครือข่ายผู้ใช้งานบนโลกออนไลน์จำนวนมหาศาลในจีน อย่าง Alibaba, Tencent, Baidu, Didi หรือ Meituan ไม่ให้มีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในจีนมากเกินไป

แต่ทั้งนี้ จีนก็ได้ออกมาตรการหลายๆ อย่าง เพื่อส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพเยาวชนจีนรุ่นใหม่ อาทิ การยกเลิกระบบการสอบในชั้นเรียนของเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี เพื่อลดความกดดันในการสอบแข่งขันตั้งแต่ในวัยเด็ก

นโยบายงดการเรียน การสอนในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ห้ามธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และต้องจดทะเบียนในรูปแบบองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ที่ต้องเสียให้แก่โรงเรียนกวดวิชานอกชั่วโมงเรียน แทนที่เด็กจะเรียนอย่างเต็มที่ในชั้นเรียน และมีเวลาว่างเหลือให้ใช้ร่วมกับครอบครัวในวันหยุด

แต่สุดท้าย การพัฒนาคุณภาพของเด็กจีนจะดีขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคนในครอบครัวเป็นสำคัญ ว่าจะสามารถดึงความสนใจของเด็กจากหน้าจอ สู่ครอบครัวได้มากน้อยเพียงใด

.

อ้างอิง

BBC

The Guardian


โดย Jeans Aroonrat