“โรคไมเกรน” ถือว่าเป็นโรคที่คนไทยหลาย ๆ คนเป็น เกิดจากความผิดปกติของเส้นเลือดในสมองมีการหดตัว ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวข้างเดียว ต้องทานยาสำหรับโรคนี้โดยเฉพาะ นอกจากนี้หลาย ๆ คนก็สามารถเป็นโรคไมเกรนเทียมได้อีกด้วย !

'โรคไมเกรน' หรือ การปวดหัวข้างเดียว เกิดจากความผิดปกติในการหดตัวของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง มักเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุ แต่อาจมีตัวกระตุ้น เช่น แสง สี เสียง กลิ่น อากาศร้อน หรือการมีประจำเดือน มักมีอาการปวดหัวข้างเดียว หรือปวดสลับข้างกัน หากเป็นมากจะเห็นแสงจ้าหรือแสงระยิบระยับร่วมด้วย ซึ่งการปวดหัวไมเกรนมักดีขึ้นได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดไมเกรนโดยเฉพาะ (ยาพาราเซตามอลไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น)

อย่างไรก็ตามหากรับประทานยารักษาไมเกรนแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาจเกิดจาก 'ไมเกรนเทียม' แฝงอยู่ก็เป็นได้ !! 

ไมเกรนเทียมไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง แต่เกิดจากการเกร็งตัว หรือหดสั้นของกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า และฐานกะโหลกศีรษะ โดยกลุ่มกล้ามเนื้อที่มักก่อให้เกิดการปวดคล้ายไมเกรนพบได้หลายมัด เช่น Suboccipital, Upper trapezius, Semispinalis capitis, Splenius capitis, Sternocleidomastoid Muscle ซึ่งกล้ามเนื้อเหล่านี้เป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หลักในการพยุงกะโหลกศีรษะ การหันหน้า และการก้มเงยคอ 
เนื่องจากกล้ามเนื้อเหล่านี้มีจุดเกาะอยู่ที่กระดูกสันหลังส่วนคอและฐานกะโหลก

เมื่อเกร็งคอและบ่าเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการปวดสะสมขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงอาจแยกไม่ออกว่าอาการปวดหัวข้างเดียวเกิดขึ้นเกิดจากไมเกรนเทียมหรือไม่

ทั้งนี้ ไมเกรนเทียมสามารถพบได้บ่อยไม่ต่างจากไมเกรนแท้!! แต่สามารถสังเกตได้!! 

วิธีสังเกตอาการของไมเกรนเทียม สังเกตได้จากเมื่อเกิดการปวดหัวข้างเดียว ขณะที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือ มือถือ รวมถึงการทรงท่าที่ผิดปกติ เช่น ไหล่ห่อ คอยื่น เป็นต้น 

นอกจากนี้ไมเกรนเทียมยังสามารถพบจุดกดเจ็บ (Trigger Point) หรือกล้ามเนื้อที่เกร็งค้างบริเวณคอ บ่า และใต้ฐานกะโหลก ซึ่งเมื่อทำการกด นวด หรือยืดกล้ามเนื้อมัดดังกล่าว อาจมีการปวดร้าวไปยังบริเวณต่าง ๆ 

ส่วนวิธีป้องกันไมเกรนเทียมที่ดีที่สุด คือ การหลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องนั่งนาน ๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อมีการเกร็งและนำไปสู่การบาดเจ็บได้ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้... 

>> หากต้องใช้คอมพิวเตอร์ทำงานควรจัดระดับหน้าจอ เก้าอี้ และคีย์บอร์ดให้เหมาะสม ควรเป็นเก้าอี้ที่มีที่รองแขน เพื่อให้ไม่ต้องออกแรงยกไหล่ขึ้นตลอดเวลา ปรับระดับหน้าจอ และความสูงของเก้าอี้ 

>> ใส่แว่นสายตาและจัดแสงสว่างให้เหมาะสมกับการทำงานประเภทต่าง ๆ เพราะการต้องเพ่งมองมาก ๆ ทำให้กล้ามเนื้อคอ บ่า และฐานกะโหลกเกร็งตัวมากขึ้น

>> เปลี่ยนอิริยาบททุกชั่วโมง เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย หรือดื่มน้ำ 1-2 แก้วทุกชั่วโมงทำให้ต้องเปลี่ยนอิริยาบทและเดินไปเข้าห้องน้ำอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ระหว่างวันควรออกกำลังกายกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่อย่างสม่ำเสมอ ดังต่อไปนี้... 

ยืดกล้ามเนื้อบ่า 

เริ่มจากนำแขนข้างที่จะยืดไปไว้ด้านหลัง แล้วใช้มืออีกข้างจับไว้ โดยเอียงศีรษะไปด้านตรงข้าม ช้า ๆ เอียงจนรู้สึกตึงบ่าด้านขวา หรือให้หูซ้ายเข้าใกล้บ่าซ้ายมากที่สุด หากยังไม่รู้สึกตึงให้หมุนหน้าไปทางซ้ายหรือขวาเล็กน้อย ยืดค้าง 5-10 วินาที รอบละ 10-15 ครั้ง

บริหารกล้ามเนื้อฐานกะโหลก

ทำท่าเก็บคาง หรือพยายามเอาคางชิดอกโดยไม่ก้มคอ ห้ามกลั้นหายใจขณะทำ เกร็งค้างเบา ๆ 5-10 วินาที ทำรอบละ 10-15 ครั้ง

บริหารกล้ามเนื้อต้นคอ

...นอนคว่ำ ให้ช่วงอกยื่นออกจากเตียงเล็กน้อย

เก็บคาง ไม่เงยหน้า แต่ให้ออกแรงยกช่วงศีรษะขึ้นมาตรงๆ เกร็งกล้ามเนื้อด้านหลังคอค้างไว้ 5-10 วินาที ทำรอบละ 10-15 ครั้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการปวดหัวข้างเดียวหรือไมเกรนและรับการรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เพราะอาจพบไมเกรนเทียมร่วมด้วยนั้น

เราจึงไม่ควรมองข้ามการตรวจประเมินและรักษาไมเกรนเทียม โดยการรักษาด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดี เช่น การประคบร้อนหรือเย็นตามระยะของอาการ การกดจุดหรือยืดกล้ามเนื้อที่เป็นปัญหา การใช้คลื่นเสียงอัลตราซาวด์ทางกายภาพบำบัด ร่วมกับการออกกำลังกายกล้ามเนื้อเฉพาะจุดและการปรับท่าทางในชีวิตประจำวัน จะช่วยลดปัญหาไมเกรนเทียมได้เป็นอย่างดี

.

เขียนโดย: กภ.อุสา บุญเพ็ญ ปริญญาโท วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต พัฒนาการมนุษย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของคลินิกกายภาพบำบัด และเพจสุขภาพดี


ข้อมูลอ้างอิง
http://www.kulpphysicaltherapy.com/headache.html
https://kokyun.wordpress.com/2011/10/10/the-correct-sitting-posture-in-front-of-a-computer/
https://www.thonburihospital.com/Migraine.html
https://i.pinimg.com/originals/b0/80/90/b080902f6d514f13cd01408a57ff36dc.jpg
https://www.rehabmypatient.com/neck/splenius-cervicis
https://salusmt.com/saturday-stretch-the-suboccipital-group/